ลดดอกเบี้ยเงินกู้ไม่ต้องกดดัน ธปท. อาจารย์อุ๋ย แนะรัฐบาลสั่ง 6 แบงก์รัฐ ลดดอกเบี้ยนำร่อง มีฐานลูกค้าหลาย 10 ล้านคน สุดท้ายแบงก์พาณิชย์ต้องลดดอกเบี้ยตามเพื่อไม่ให้เสียลูกค้า
จากกรณีที่รัฐบาลพยายามส่งสัญญาณไปยังธนาคารแห่งประเทศไทยให้ลดดอกเบี้ยนโยบายโดยอ้างว่าเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน ซึ่งกระทบต่อหลักความเป็นอิสระของของธนาคารกลาง วันนี้ ( 10 พ.ค.67) นายประพฤติ ฉัตรประภาชัย หรืออาจารย์อุ๋ย นักวิชาการด้านกฎหมาย อดีตผู้สมัคร สส. กรุงเทพฯ พรรคประชาธิปัตย์ ได้แสดงความเห็นผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า ดอกเบี้ยนโยบายเป็นอัตราที่ธนาคารกลางจ่ายดอกเบี้ยให้กับธนาคารพาณิชย์ที่เอาเงินมาฝาก หรือเป็นอัตราที่ธนาคารกลางเก็บดอกเบี้ยจากธนาคารพาณิชย์ที่มากู้เงิน ซึ่งอัตราดอกเบี้ยนโยบายจะส่งผลกับอัตราดอกเบี้ยที่ธนาคารพาณิชย์คิดกับลูกค้าที่เป็นผู้กู้หรือผู้ฝากเงินต่อไป เป็นเครื่องมือหนึ่งของแบงก์ชาติ ในการรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจ ควบคุมอัตราเงินเฟ้อ ไม่ให้เกินเป้าหมาย 3% ต่อปี ตามหลักเศรษฐศาสตร์
อย่างไรก็ตาม แบงก์ชาติไม่มีอำนาจสั่งธนาคารพาณิชย์ ดอกเบี้ยนโยบายเป็นเพียงการส่งสัญญาณว่าธนาคารพาณิชย์ควรจะขึ้นหรือลดดอกเบี้ยเท่าใด ส่วนแต่ละธนาคารจะตัดสินอย่างไร เป็นเรื่องของแต่ละธนาคาร โดยดูจากปัจจัยแวดล้อมต่าง ๆ ดังที่ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ขอความร่วมมือจาก 4 ธนาคารใหญ่ และสมาคมธนาคารไทย เมื่อวันที่ 23 เม.ย.67 ซึ่งสุดท้ายสมาคมธนาคารไทยก็มีการปรับลดดอกเบี้ย MRR ลงร้อยละ 0.25 สำหรับผู้กู้บางส่วน ซึ่งไม่ตรงกับกับมติของแบงก์ชาติ (กนง.)
ดังนั้น เพื่อไม่ให้กระทบกับหลักความเป็นอิสระของแบงก์ชาติตามที่หลายฝ่ายกังวล รัฐบาลก็สามารถทำได้มากกว่าการขอความร่วมมือ โดยสั่งให้ธนาคารในกำกับดูแลของรัฐทั้ง 6 แห่ง ได้แก่ ธนาคารออมสิน ธนาคารออมสิน ธกส. ธอส. ธอท. ธพว. และ ธนาคารกรุงไทย ให้ลดดอกเบี้ยเงินกู้ โดยไม่ต้องไปยุ่งกับดอกเบี้ยนโยบาย เพราะจะเกิดผลกระทบหลายฝ่าย และรุนแรงในระยะยาว และเมื่อธนาคารของรัฐเหล่านี้ซึ่งมีฐานลูกค้าหลายสิบล้านคน หากลดดอกเบี้ยได้มากพอและนานพอ สุดท้ายธนาคารพาณิชย์ของเอกชนก็จะต้องลดดอกเบี้ยตาม เพราะมิเช่นนั้นก็จะเสียลูกค้าไป
“การทำเช่นนี้แม้จะทำให้รายได้หรือกำไรของธนาคารลดลง แต่ในภาพรวมจะทำให้ประชาชนมั่นใจในการลงทุนและจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น เศรษฐกิจจะกระเตื้องขึ้น และรัฐบาลก็จะเก็บภาษีได้มากขึ้น และเอาเงินมาช่วยธนาคารเหล่านี้ภายหลังได้ โดยไม่ต้องไปกดดันแบงก์ชาติให้กระทบกับหลักความเป็นอิสระ”