ทัวร์ลง! โรงเรียนปรับเวลา เข้าแถวเร็ว-เลิกเรียนช้า

View icon 90
วันที่ 13 พ.ค. 2567 | 07.06 น.
สนามข่าว 7 สี
แชร์
สนามข่าว 7 สี - เปิดเทอมมาก็มีเรื่องว้าวุ่นครบทั้งในมุมโรงเรียน ผู้ปกครอง และนักเรียนกันเลย ไปดูมุมโรงเรียนย่านมีนบุรี ปรับเวลาเรียนเข้มถึงขั้น 07.30 น. ต้องเคารพธงชาติกันแล้ว ส่วนเลิกเรียนก็ 17.00 น. ดู ๆ ไปก็คล้ายชีวิตพนักงานออฟฟิศเลย แต่งานนี้ผู้ปกครองไม่ทน ฉะเละ แล้วโรงเรียนจะปรับท่าทีหรือไม่ ไล่เรียงไปพร้อม ๆ กัน 

ทัวร์ลง! โรงเรียนปรับเวลา เข้าแถวเร็ว-เลิกเรียนช้า
กลายเป็นดรามาหนัก ระหว่างผู้ปกครองกับโรงเรียน หลังโรงเรียนสตรีเศรษฐบุตรบำเพ็ญ เขตมีนบุรี กรุงเทพฯ แจ้งว่า เปิดเทอมใหม่วันนี้ (13 พ.ค.) จะปรับเวลาเข้าแถวเป็นตอน 07.30 น. และให้เลิกเรียนตอน 17.10 น. แปลว่านักเรียนต้องใช้ชีวิตในโรงเรียน เคร่งเครียดกับการเรียน เกือบ 10 ชั่วโมงต่อวัน

แน่นอน ผู้ปกครองไม่ทน พาทัวร์ไปลงเพจโรงเรียนยกใหญ่ แสดงความเห็นว่า การปรับเวลาเรียน ไม่ได้การันตีว่าเด็กจะเรียนดีขึ้น แต่การันตีได้ว่าเด็กจะเครียดสะสมมากขึ้นแน่นอน และอาจมีเด็กหลายคนบ้านอยู่ไกลโรงเรียน ต้องตื่นแต่เช้ามืดไปโรงเรียน ขากลับก็ถึงบ้านมืดค่ำ เสี่ยงไม่ปลอดภัยหรือไม่

สุดท้าย โรงเรียนยอมถอยหนึ่งก้าว ปรับเวลาเรียนลดลง ยึดตามแผนหลักสูตรเดิม คือ จะเริ่มกิจกรรมหน้าเสาธงเวลา 07.40 น. ปรับเวลาเรียนเป็น คาบละ 50 นาที (ตอนแรกปรับมาเป็น 1 ชั่วโมง) และ เลิกเรียนกลับบ้านได้ตามแผนการเรียนของตัวเอง ตั้งแต่เวลา 13.40 น.เป็นต้นไป (แล้วแต่แผนการเรียน เลิกเรียนหลายเวลา 13.40 น. 14.40 น. 15.30 น. และ 16.20 น.)

ผอ.โรงเรียน ชี้แจงกับทีมข่าว 7HD ว่า ความตั้งใจเดิม ต้องการปรับหลักสูตรให้มีความทันสมัยขึ้น จึงจำเป็นต้องขยายเวลาการเรียน แต่ถ้าผู้ปกครอง-นักเรียนไม่เห็นด้วยก็เปลี่ยนได้ ไม่กระทบต่อการเรียนรู้และความรู้ที่จะได้รับ

ผู้ปกครอง 45.6% มีเงินไม่พอใช้จ่ายช่วงเปิดเทอมนี้
เรื่องว้าวุ่นไม่จบแค่เวลาเรียน แต่กระเป๋าเงินผู้ปกครองก็มีรายจ่ายหนัก สวนรายได้ที่เข้ามาน้อยกว่า เมื่อศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เผยพฤติกรรมใช้จ่าย และผลกระทบของผู้ปกครองช่วงเปิดเทอม พบว่า ผู้ปกครองเกือบ 46 เปอร์เซ็นต์ มีเงินไม่พอใช้จ่ายช่วงเปิดเทอมเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว ซึ่งอยู่ที่กว่า 36 เปอร์เซ็นต์ จนจำเป็นต้องจำนำทรัพย์สิน กู้เงินทั้งใน-นอกระบบ ยืมญาติพี่น้อง เบิกเงินสดจากบัตรเครดิต ไปจนถึงตัดสินใจพักการเรียนลูกหลาน

นำมาสู่ข้อเรียกร้องถึงรัฐบาล อย่าทิ้ง-ลอยแพผู้ปกครองที่เดือดร้อนช่วงเปิดเทอมนี้ โดยฝาก 3 เรื่อง ถึง นายกฯ เศรษฐา คือ เร่งรัดนำเงิน 10,000 บาท ตามนโยบายดิจิทัล วอลเล็ต ให้ผู้ปกครองที่จำเป็นได้ใช้ก่อน หาแหล่งเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟต์โลน) หรือ เงินกู้ปลอดดอกเบี้ย และจัดหาสินค้าเพื่อการศึกษา มีคุณภาพดี-ราคาถูก เพื่อแบ่งเบาภาระผู้ปกครอง

และแน่นอนเมื่อโรงเรียนเริ่มทยอยเปิดเทอม สิ่งที่ต้องระวัง คือ โรคโควิด-19 ที่จะกลับมาระบาด คุณหมอเตือนว่า ถ้าเด็กป่วยควรหยุดอยู่บ้าน

ขณะเดียวกัน ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ มหาวิทยาลัยมหิดล โพสต์ข้อมูลเกี่ยวกับประเด็นนี้เหมือนกันผ่านทางเพจ ระบุว่า จากข้อมูลรหัสพันธุกรรม และแชร์บนฐานข้อมูลโควิดโลกจีเสส (GISAID) พบในประเทศไทย มีผู้ติดเชื้อโควิด-19 ตระกูลโอมิครอน หลากหลายสายพันธุ์ย่อย สายพันธุ์ KP.1.1, KP.2.2 และ KP.4.1 อย่างละ 1 ราย ส่วน KP.2 มีจำนวน 9 ราย ซึ่งเป็นสายพันธุ์ในกลุ่ม เฟลิร์ท (FLiRT) ที่มีศักยภาพการแพร่กระจายได้รวดเร็ว และหลบเลี่ยงภูมิคุ้มกันสูงขึ้น โดยขณะนี้ผู้เชี่ยวชาญอยู่ระหว่างเฝ้าติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด หวั่นเชื้อแซงหน้า แทนที่สายพันธุ์เดิม เพิ่มจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในประเทศไทย (ผู้เชี่ยวชาญแนะนำให้ประชาชนปฏิบัติตามมาตรการป้องกันอย่างเคร่งครัด สวมหน้ากากอนามัย และรักษาสุขอนามัยที่ดี โดยเฉพาะประชาชนในกลุ่มเปราะบาง)

ส่วนที่โรงเรียนให้สวมหน้ากากอนามัย เฉพาะเด็กที่มีโรคทางเดินหายใจ (แต่เด็กปกติไม่จำเป็นต้องใส่ โดยเฉพาะเด็กเล็ก การใส่ให้ถูกวิธีทำได้ยาก การดูแลเรื่องความสะอาด ล้างมือ จึงสำคัญกว่า) ตรวจ ATK ให้ตรวจเฉพาะเด็กมีอาการ หากเด็กป่วยในชั้นเรียนพร้อมกัน 3 คนขึ้นไป ควรปิดชั้นเรียนนั้นเพื่อทำความสะอาดทันที (ถ้าเด็กหายป่วยแล้ว ให้มาโรงเรียนหลังหายจากอาการแล้ว 1 วัน)

ข่าวที่เกี่ยวข้อง