ผ่าคลอดกลายเป็นเจ้าหญิงนิทรา พ่อลูก 3 ร้องสื่อ ล่าสุดภรรยาไม่ตอบสนองการรักษา รพ.เยียวยา 4 แสน ตาม ม.41 แต่ความเสียหายประเมินค่าไม่ได้ ปรึกษาทนายจ่อฟ้องให้ทีมแพทย์ผ่าตัดร่วมรับผิดชอบ ด้าน รพ.แจงเป็นเคส 1 ในล้าน ตลอด 5 เดือนของการรักษา รพ.ดูแลเหมือนญาติ อำนวยความสะดวกทุกอย่าง
ความคืบหน้ากรณีพ่อลูก 3 พาเมียไปผ่าคลอด กลายเป็นเจ้าหญิงนิทรา วันนี้ (16 พ.ค.67) ผู้สื่อข่าวเดินทางไปพบนายประเสริฐ อายุ 38 ปี เจ้าของช่องยูทูบเบอร์หาปลา ที่อำเภอสีคิ้ว จังหวัดนครราชสีมา โดยนายประเสริฐกำลังเลี้ยงลูก 3 คน คนโตอายุ 6 ขวบ คนที่ 2 อายุ 4 ขวบ และคนสุดท้องอายุ 7 เดือน โดยมีแม่อายุ 70 ปี มาช่วยเลี้ยงหลาน
นายประเสริฐ เล่าว่า น.ส.เบญจมาศ ภรรยา อายุ 31 ปี ประกอบอาชีพขายของออนไลน์ มีลูกทั้งหมด 3 คน ซึ่ง 2 คนแรกคลอดเองทั้งหมด แต่ลูกคนที่ 3 ต้องผ่าคลอด เนื่องจากเด็กมีน้ำหนัก 4 กิโลกรัม จะทำให้คลอดยาก หมอจึงนัดให้มาผ่าคลอดในวันที่ 2 ต.ค.66 ก่อนหน้านี้ ภรรยาสมบูรณ์แข็งแรง ไม่มีโรคประจำตัว ก่อนจะเข้าห้องผ่าตัดก็ยังพูดคุยยิ้มแย้มแจ่มใส หลังผ่าตัดเสร็จ ลูกชายปลอดภัย ส่วนภรรยาอาการโคม่า รพ. สีคิ้ว ได้ส่งต่อไปยัง รพ.มหาราชนครราชสีมา
“หลังเกิดเหตุ 2 วัน โรงพยาบาลและทีมแพทย์ ได้เข้ามาขอโทษกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น พร้อมกับนำเงินใสซองให้ 5 พันบาท พร้อมกับมอบผ้าอ้อมสำเร็จรูปและนมผงสำหรับเด็กทารก หลังจากนั้น ภรรยาก็พักรักษาตัวอยู่ที่ รพ.มหาราชนครราชสีมา เป็นเวลา 29 วัน ก่อนจะกลับมารักษาต่อที่โรงพยาบาลสีคิ้ว อีกประมาณ 5 เดือน แต่เกิดการติดเชื้อต้องนำตัวส่ง รพ.มหาราชนครราชสีมาอีกรอบ ล่าสุดพักรักษาตัวได้นานกว่า 10 วันแล้ว และอาการไม่ตอบสนองต่อการรักษา หมอได้มาบอกให้ทำใจไว้ล่วงหน้าแล้ว
นายประเสริฐ บอกด้วยว่า โรงพยาบาลได้ยื่นเบิกเงินมาตรา 41 กรณีผู้รับบริการได้รับความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการรักษาพยาบาลของหน่วยบริการ สามารถขอรับเงินช่วยเหลือเบื้องต้นได้ โดยไม่ต้องพิสูจน์ถูกผิด เป็นจำนวนเงิน 400,000 บาท แต่ตนต้องการที่จะให้ทีมแพทย์และพยาบาลที่ผ่าคลอด ร่วมรับผิดชอบชดใช้ค่าเสียหายที่ไม่สามารถประเมินมูลค่าได้ ซึ่งจะปรึกษาทนายความเพื่อฟ้องร้องต่อไป
ด้าน แพทย์หญิงอารีย์ เชื้อเดช ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสีคิ้ว เปิดเผยทางโทรศัพท์ว่า เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นช่วงเดือนตุลาคม 2566 น.ส.เบญจมาศ ได้มาคลอดบุตรที่โรงพยาบาล ทีมแพทย์ได้ผ่าตัดด้วยการดมยาสลบ ใช้เวลาประมาณครึ่งชั่วโมง สามารถผ่าคลอดได้ เด็กชายมีร่างกายสมบูรณ์ ไม่มีผลข้างเคียงอะไร แต่หลังจากนั้นพบว่าแม่มีอาการผิดปกติ หายใจอ่อนลง เพราะขาดอากาศไปเลี้ยงสมอง แพทย์จึงปั๊มหัวใจ และรีบนำตัวส่งต่อไปยัง รพ.มหาราชนครราชสีมา เพื่อช่วยชีวิต ซึ่งเหตุการณ์ดังกล่าวทางโรงพยาบาลก็ได้ทำการคลอดบุตรตามขั้นตอนทุกอย่าง แต่น่าจะเกิดจากดมยาสลบและร่างกายของคนไข้ต่อต้าน จึงทำให้เกิดเหตุการณ์นี้ขึ้น ซึ่งพบได้ 1 ในล้านเท่านั้น
คณะแพทย์ก็ยังเสียขวัญอยู่ และไม่อยากให้เกิดเหตุการณ์แบบนี้ หลังเกิดเหตุก็ได้รวบรวมเงินเพื่อเยียวยาเบื้องต้น และประสานไปยัง สปสช. เพื่อช่วยเหลือตามมาตรา 41 พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กรณีเสียชีวิตหรือทุพพลภาพอย่างถาวร เป็นการจ่ายเงินช่วยเหลือตั้งแต่ 240,000 บาท แต่ไม่เกิน 400,000 บาท โดย สปสช. ได้ช่วยเหลือไปเป็นเงินจำนวน 400,000 บาท เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ตลอดระยะเวลาที่อยู่โรงพยาบาล ประมาณ 5 เดือน ทางโรงพยาบาลมีการดูแลเหมือนญาติ อำนวยความสะดวกทุกอย่าง เพื่อเป็นการลดค่าใช้จ่ายกับทางครอบครัว และทางโรงพยาบาลและเจ้าหน้าที่ทุกคนก็ไม่เคยท้าทายทางญาติผู้ป่วยให้ไปฟ้องเพื่อเรียกค่าเสียหาย ตามที่ญาติได้กล่าวอ้าง