ศาลฎีกา สั่งจำคุก 50 ปี อดีตรองอธิบดีกรมพัฒนาฝีมือฯ ฮั้วปรับปรุงตึก 300 กว่าล้านบาท ส่วนจำเลยอื่นรับโทษลดหลั่น ยกฟ้อง 6 ราย
วันนี้ (21 พ.ค.) ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง อ่านคำพิพากษาศาลฎีกา คดีที่ 5234-5238/2566 ระหว่าง พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการสูงสุด เป็นโจทก์ฟ้อง น.ส.ประไพศรี หรือภคภร กับพวก เป็นจำเลยที่ 1-36 ในคดีทุจริตการดำเนินโครงการจัดจ้างปรับปรุงซ่อมแซมสระน้ำ ถนน อาคารสถานที่ ของกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ระหว่างปี 2543-2545 จำนวน 201 สัญญา รวมวงเงินทั้งสิ้น 331,317,086 บาท
ศาลฎีกา มีคำพิพากษาแก้เฉพาะบทความผิดในการลงโทษ ส่วนโทษของจำเลยส่วนใหญ่ยังยืนหรือไม่แก้ คงเป็นไปคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ขณะที่ จำเลยที่ 21 ที่ 27 ที่ 29 ที่ 30 ที่ 34 และที่ 36 ยกฟ้อง
โดยในส่วนของ น.ส.ประไพศรี จำเลยที่ 1 ก่อนหน้านี้ถูกพิพากษาว่า มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 (เดิม) ,157 (เดิม), 161 (เดิม) ประกอบมาตรา 83 พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 มาตรา 12 ประกอบประมวลกฎหมายอาญามาตรา 83 เป็นกรรมเดียว ผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 มาตรา 12 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุด การกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกันให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 จำคุกกระทงละ 5 ปี รวม 161 กระทง จำคุก 805 ปี ส่วนความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 (เดิม), 157 (เดิม), 161(เดิม) ประกอบมาตรา 83 เป็นกรรมเดียว ผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 151 (เดิม) ประกอบมาตรา 83 ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 การกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกันให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 จำคุกกระทงละ 5 ปี รวม 10 กระทง จำคุก 50 ปี เมื่อรวมโทษทุกกระทงแล้วให้จำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 50 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 91 (3)
ศาลฎีกา พิพากษาแก้บทลงโทษเป็นว่า มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 (เดิม), 157 (เดิม) ประกอบมาตรา 83 พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิด เกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 มาตรา 12 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83
ส่วนจำเลยรายอื่น ๆ นางสุวารี จำเลยที่ 2 ก่อนหน้าที่โดนลงโทษ รวม 4 กระทงเป็น จำคุก 4 ปี ศาลฎีกาพิพากษาแก้บทลงโทษเป็นว่า มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 (เดิม), 157 (เดิม) ประกอบมาตรา 83, 46 พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 มาตรา 12 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83
ขณะที่ จำเลยที่ 3-12 และที่ 33 ศาลฎีกา พิพากษาแก้บทลงโทษเป็นว่า มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 (เดิม), 157 (เดิม) ประกอบมาตรา 83, 46 และเฉพาะจำเลยที่ 3-4, จำเลยที่ 6-12 และจำเลยที่ 33 มีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 มาตรา 12 ประกอบประมวลกฎหมายอาญามาตรา 83 ด้วย
จำเลยที่ 20, จำเลยที่ 22-26, จำเลยที่ 28 และจำเลยที่ 31 ศาลฎีกา พิพากษาแก้บทลงโทษเป็นว่า มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 (เดิม) ประกอบมาตรา 86, 157 (เดิม) ประกอบมาตรา 86 พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 มาตรา 12 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 86
จำเลยที่ 35 ศาลฎีกา พิพากษาแก้บทลงโทษเป็นว่า มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 (เดิม) ประกอบมาตรา 86, 157 (เดิม) ประกอบมาตรา 86
ยกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ที่ลงโทษ จำเลยที่ 1-12 จำเลยที่ 20 จำเลยที่ 22-26 จำเลยที่ 28 จำเลยที่ 31 และที่ 35 ในความผิดฐานร่วมกันเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 (เดิม) ประกอบมาตรา 83 และฐานเป็นผู้สนับสนุนเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 (เดิม) ประกอบมาตรา 86
ส่วนจำเลยที่ได้ยกฟ้องในชั้นฎีกา คือ นายฮาซัน หรือคมศักดิ์ จำเลยที่ 21, น.ส.พรปวีร์ หรือดวงใจ จำเลยที่ 27, นายสุชาติ จำเลยที่ 29, หจก.แสงสีนิลก่อสร้าง จำเลยที่ 30, จำเลยที่ 34 และจำเลยที่ 36 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์
ทั้งนี้ คดีดังกล่าวคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (ป.ป.ช.) ชี้มูลความผิดเมื่อปี 2558 และส่งอัยการสูงสุดฟ้องดำเนินคดีนางประไพศรี อดีตรองอธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน, ข้าราชการในกรมและเอกชน รวมกว่า 30 ราย ร่วมกันทุจริตดำเนินโครงการจัดซื้อต้นไม้ ปรับแต่งภูมิทัศน์ และอาคารสถานที่ของกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ระหว่างปีงบประมาณ 2543 - 2545 จำนวน 201 งานจ้าง หรือ 201 สัญญา เป็นเงินทั้งสิ้น 331,317,086 บาท ซึ่งมีพฤติการณ์ช่วยเหลือเอกชนรายใดรายหนึ่งให้เป็นคู่สัญญารับจ้างทำงานปรับปรุงซ่อมแซมอาคารสถานที่ของกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน โดยการอนุมัติให้จัดจ้างด้วยวิธีแบ่งจ้าง ลดวงเงินที่จะจ้างในครั้งเดียวกัน เพื่อให้วงเงินต่ำกว่าที่จะจ้างโดยวิธีประกวดราคา เป็นวิธีสอบราคา และเพื่อให้อำนาจสั่งจ้างเปลี่ยนแปลงไป จากที่เป็นอำนาจของอธิบดี ให้เป็นอำนาจของตนเองแทน โดยไม่มีการดำเนินการสอบราคาและแข่งขันเสนอราคากันจริง ทั้งได้ทำเอกสารดำเนินการจัดจ้างด้วยวิธีสอบราคาเป็นเท็จ ปลอมและใช้เอกสารใบเสนอราคาของเอกชนรายอื่นมาเป็นหลักฐานแข่งขันเสนอราคากับเอกชนรายที่ได้เลือกให้เป็นผู้รับจ้างทำงาน