วันนี้ (11 มิ.ย. 67) สหพันธ์การขนส่งทางบกแห่งประเทศไทย พร้อมด้วย สมาคมผู้ประกอบการขนส่ง 12 สมาคม ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้รัฐบาลช่วยเหลือ และบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน หลังราคาน้ำมันดีเซลปรับสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยขอให้รัฐบาลปรับโครงสร้างราคาน้ำมันเชื้อเพลิงให้เป็นธรรม และตรึงราคาน้ำมันดีเซลไว้ที่ 30 บาท/ลิตร
ทั้งนี้ จะรอคำตอบจากรัฐบาลภายใน 10 วัน หากไม่ได้ตามที่เรียกร้อง จะยกระดับการกดดันเพิ่มมากขึ้น และอาจจำเป็นต้องปรับขึ้นค่าขนส่งอีก 9% หลังไม่สามารถแบกภาระต้นทุนน้ำมันได้ เนื่องจากเคยยื่นเรียกร้องไปก่อนหน้านี้แล้วถึง 3 ครั้ง แต่ไม่ได้รับการตอบรับใดๆ จากรัฐบาล
ขณะที่นายสมคิด เชื้อคง รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ได้เป็นตัวแทนมารับหนังสือดังกล่าว จากกลุ่มสมาพันธ์ขนส่งฯ เพื่อนำเสนอให้นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ได้รับทราบต่อไป
สหพันธ์การขนส่งทางบก ฯ ระบุในแถลงการณ์ว่า ปัจจุบันภาวะเศรษฐกิจไทยมีปัญหาจากหลายปัจจัยที่มีความผันผวน ส่งผลกระทบต่อขีดความสามารถของการแข่งขันของภาคธุรกิจ การดำรงชีวิตประจำวันของประชาชน ที่มีค่าใช้จ่ายต่อรายได้ในด้านอาหารและพลังงานเป็นหลัก ค่าครองชีพสูง ค่าใช้จ่ายมากกว่ารายได้ ประชาชนส่วนใหญ่ใช้ชีวิตอยู่อย่างยากลำบาก
โดยเมื่อวันที่ 27 มี.ค. 67 คณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) มีมติเห็นชอบในหลักการ ให้ปรับอัตราเงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงประเภทน้ำมันดีเซล เพื่อให้ราคาขายปลีกเกินกว่า 30 บาท ได้ตั้งแต่เดือนเม.ย.67 เป็นต้นไป โดยรัฐบาลได้วางกรอบการตรึงราคาน้ำมันดีเซลไม่ให้เกิน 33 บาท/ลิตร ตั้งแต่วันที่ 20 เม.ย. - 31 ก.ค.67
สหพันธ์การขนส่งทางบก ฯ และสมาชิก ได้พยายามที่จะคงราคาขนส่งเดิมไว้ เพื่อไม่ให้กระทบกับประชาชนผู้บริโภค แต่ด้วยต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้นมาก ดังนั้น ผู้ประกอบการขนส่งอาจมีความจำเป็นต้องปรับราคาขนส่ง เพิ่มขึ้น 9%
พร้อมแสดงจุดยืนไม่เห็นด้วยกับการปรับขึ้นราคาน้ำมันดีเซลเกินกว่า 30 บาท/ลิตร เนื่องจากสมาชิกผู้ประกอบการขนส่ง ได้รับผลกระทบจากการปรับขึ้นราคาน้ำมันดีเซลเกินกว่า 30 บาท/ลิตร ดังนี้
สภาพปัญหาปัจจุบัน:
1. การแข่งขันที่สูงและรุนแรงในสภาพการตลาดปัจจุบัน ทำให้ค่าใช้จ่ายต้นทุนเพิ่มมากขึ้น ผู้ประกอบการขนส่งจำนวนมาก ประสบปัญหาไม่สามารถจ่ายชำระค่างวด สถาบันการเงินได้เริ่มยึดรถยนต์ บรรทุก รวมถึงการเจรจาต่อรองเพื่อขอประนอมหนี้ โดยปรับโครงสร้างหนี้ใหม่ เพื่อให้สามารถดำเนินกิจการขนส่งต่อไปได้
2. ผู้ประกอบการขนส่งรถโดยสาร ผู้ให้บริการรถโดยสารกว่า 100,000 คัน ที่เพิ่งฟื้นตัวจากวิกฤตการระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด 19) ได้รับผลกระทบในส่วนของการทำสัญญานำเที่ยวในรูปแบบแพ็คเกจทัวร์ ซึ่งต้องทำสัญญาล่วงหน้า 6 - 12 เดือน ไม่สามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้
3. แรงงานในภาคโลจิสติกส์และขนส่งสินค้า กว่า 5 ล้านคน จะต้องประสบปัญหาการเลิกจ้าง กรณีภาคขนส่งหยุดชะงัก และบริษัทขนส่งปิดตัวลง
ดังนั้น สหพันธ์การขนส่งทางบกแห่งประเทศไทย ขอเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ไขปัญหา ช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน กรณีราคาน้ำมันดีเซลปรับสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยมีข้อเสนอดังนี้
1. ปรับโครงสร้างราคาน้ำมันเชื้อเพลิงให้เป็นธรรม ลดการจัดเก็บภาษีซ้ำซ้อน
2. แยกไบโอดีเซลออกจากส่วนผสมน้ำมันดีเซล
3. ปรับลดและตรึงราคาน้ำมันดีเซล 30 บาท/ลิตร
4. ยกเลิกการอ้างอิงราคาน้ำมันจากต่างประเทศ