วัณโรคต่อมน้ำเหลือง ผลตรวจเสมหะไม่พบเชื้อ แต่เจอก้อนเนื้อที่ขั้วปอด อายุน้อยก็ป่วยได้ หมออารักษ์ยกเคสเตือนไอเรื้อรัง ไอจนคนข้าง ๆ รำคาญ ไข้ต่ำ ๆ อ่อนเพลีย น้ำหนักลด เกินกว่า 2-3 สัปดาห์ อย่านิ่งนอนใจ
นพ.อารักษ์ วงศ์วรชาติ ผอ.โรงพยาบาลศูนย์การแพทย์มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ อ.ท่าศาลา จ.นครศรีธรรมราช ให้ข้อมูลด้านสุขภาพผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว โดยยกเคสตัวอย่างผู้ป่วยในต่างจังหวัด อายุเพียง 27 ปีเศษ มาพบแพทย์เนื่องจากมีอาการไอ 2 เดือน รู้สึกมีไข้หนาว ๆ ร้อน ๆ ไม่มีน้ำมูก ไม่มีเสมหะ อ่อนเพลีย ไอบ่อยจนคนข้าง ๆ รู้สึกรำคาญ ไปหาซื้อยามากินเอง ไม่รู้สึกว่าดีขึ้น จึงไปตรวจที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่ง เอกซเรย์ปอด พบความผิดปกติ เหมือนมีก้อนเนื้อที่ขั้วปอด ข้างขวา เพื่อความแน่ใจจึงส่งตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ทรวงอก แต่คิวเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ค่อนข้างนาน ญาติจึงพามา รพ.ศูนย์การแพทย์มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ จึงให้เข้าช่องทางด่วน พบศัลยแพทย์ทรวงอก ภาพจากเอกซเรย์คอมพิวเตอร์จะเห็นก้อนเนื้อที่ขั้วปอดชัดเจน แต่ไม่พบความผิดปกติอย่างอื่นในปอด ตรวจเสมหะไม่พบเชื้อวัณโรค
หมอจึงวางแผนผ่าตัด เพื่อเอาก้อนออกและตรวจชิ้นเนื้อไปพร้อมกัน โดยใช้เทคนิคการผ่าตัดแผลเล็ก ผ่านกล้อง เอ็นโดสโคป แล้วใช้เครื่องมือผ่าตัดสอดใส่ทางกล้อง ศัลยแพทย์จะดูภาพทางหน้าจอ แล้วตัดเอาชิ้นเนื้อออกมา นำชิ้นเนื้อไปส่งตรวจทางพยาธิวิทยา และย้อมด้วยเทคนิคพิเศษ ผลอ่านชิ้นเนื้อเข้ากับวัณโรคต่อมน้ำเหลือง
แม้ว่าจะตัดก้อนเนื้อออกมาแล้ว เชื้อวัณโรคยังอาจหลงเหลืออยู่ตามอวัยวะต่าง ๆ รวมถึงในปอด แม้ภาพจากเอกซเรย์ปอดจะไม่เห็นความเปลี่ยนแปลงที่ผิดปกติในเนื้อปอดก็ตาม การรักษาที่ถูกต้อง จึงต้องให้ยาวัณโรคตามสูตรมาตรฐาน และกินยาต่อเนื่องอย่างน้อย 6 เดือน หลังได้ยาไปกิน ติดตามผู้ป่วย อาการโดยรวมดีขึ้นอย่างต่อเนื่องอย่างเห็นได้ชัด
หมออารักษ์ ระบุด้วยว่า ก้อนเนื้อในทรวงอก นอกจากวัณโรคต่อมน้ำเหลืองแล้ว ที่พบบ่อยคือมะเร็งต่อมน้ำเหลือง แพทย์ผู้ให้การรักษาจะต้องวินิจฉัยโรคให้ถูกต้อง เพื่อการรักษาถูกวิธี อาการไอเรื้อรัง ไข้ต่ำ ๆ อ่อนเพลีย หรือมีน้ำหนักลด เบื่ออาหาร เกินกว่า 2-3 สัปดาห์ อย่านิ่งนอนใจ ควรไปพบแพทย์ อาจมีโรคร้ายซ่อนอยู่ ยิ่งปล่อยทิ้งไว้เชื้อโรคลุกลาม ร่างกายทรุดโทรม และสามารถติดต่อกับคนใกล้ชิดได้
หลายคนอาจเคยได้ยินชื่อวัณโรคปอด แต่จริง ๆ แล้วเชื้อวัณโรคสามารถก่อโรคที่อวัยวะอื่นได้เช่นกัน หนึ่งในอวัยวะที่พบการติดเชื้อได้ก็คือต่อมน้ำเหลือง วัณโรคที่ก่อโรคที่ต่อมน้ำเหลือง ส่วนใหญ่พบที่ต่อมน้ำเหลืองลำคอ โดยอาจมีต่อมน้ำเหลืองบวมโตเพียงต่อมเดียว หรือบวมต่อกันหลายๆต่อมเป็นสายเหมือนสายลูกประคำก็ได้ โดยต่อมน้ำเหลืองที่บวมขึ้นมามักจะไม่เจ็บ และไม่ได้เป็นก้อนแข็งมาก ก้อนจะโตขึ้นเรื่อย ๆ อย่างช้า ๆ หากไม่ได้รับการรักษา
เชื้อวัณโรคติดต่อกันทางการหายใจ ไอ จาม ผู้ที่อยู่ใกล้ชิดกับผู้ป่วยวัณโรค หรืออาศัยในสภาพอากาศที่ไม่ถ่ายเท แออัด มีการทำความสะอาดได้ไม่ถูกสุขลักษณะ ก็จะมีโอกาสติดเชื้อได้ โดยเชื้อจะสามารถแพร่กระจาย ลอยอยู่ในอากาศได้นานหลายชั่วโมง