ไฝเสน่ห์อาจกลายเป็นไฝมะเร็ง หมออารักษ์แนะ 5 วิธีสังเกต หากมีไฝ 100 ตำแหน่งขึ้นไป มีโอกาสที่จะเป็นมะเร็งผิวหนังมากกว่าคนปกติถึง 7 เท่า "มะเร็งไฝ" พบได้น้อยกว่ามะเร็งผิวหนังชนิดอื่น แต่รุนแรงมาก สามารถแพร่กระจายไปยังต่อมน้ำเหลืองและอวัยวะอื่น
นพ.อารักษ์ วงศ์วรชาติ ผอ.โรงพยาบาลศูนย์การแพทย์มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ใช้พื้นที่เฟซบุ๊กส่วนตัวให้ความรู้ด้านสุขภาพ เพื่อให้ประชาชนทั่วไปหมั่นสังเกตสุขภาพของตนเองและคนใกล้ชิด กรณีของไฝเสน่ห์ ซึ่งอาจกลายเป็นไฝมะเร็ง โดยหมออารักษ์ ระบุว่า ไฝมีได้กับทุกคนทั้งบริเวณใบหน้าหรือตามลำตัว ทุกส่วนของร่างกาย หากขึ้นบริเวณใบหน้า บางคนอาจมีความเชื่อว่าเป็นไฝเสน่ห์หรือมีความหมายต่อชีวิต หากเอาไฝออกไปจะกลายเป็นผลเสียต่อการดำเนินชีวิต แต่สุดท้ายแล้ว หากไฝมีขนาดโตเร็ว ผิวขรุขระ เปลี่ยนสี มีแผล ไฝนั้นอาจส่งผลร้ายกลายเป็นมะเร็ง หากไม่รักษาถูกวิธี กลายเป็นมะเร็งลุกลามไปยังอวัยวะอื่น ๆ ได้
หมออารักษ์ ยังได้แนะวิธีสังเกตเพื่อให้รู้ได้ว่า ไฝที่มีอยู่ สงสัยจะกลายเป็นมะเร็ง โดยวิธีพิสูจน์ที่แน่นอนที่สุด คือการตัดไฝนั้นออกเพื่อพิสูจน์ทางพยาธิวิทยา แต่ก็มีอาการหรืออาการแสดงที่ชวนสงสัยได้ ดังต่อไปนี้
1. ไฝ ที่เปลี่ยนแปลงขนาด โตขึ้นเร็วในระยะเวลาอันสั้น
2. ไฝ ที่สีเข้ม ดำ สนิท
3. ไฝ ที่ขอบเขตไม่กลม ไม่เรียบ มีแผล
4. ไฝ ที่นูนหนาขึ้นตรงกลาง และด้านข้างบุ๋มเป็นวงโดยรอบ
5. ไฝ ที่มีไฝเม็ดเล็กๆ กระจายอยู่โดยรอบ
มะเร็งไฝ (Malignant melanoma) คือ มะเร็งผิวหนัง ชนิดหนึ่ง เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของเซลล์สร้างเม็ดสี (Melanocyte) มีการแบ่งตัวมากผิดปกติ มะเร็งไฝ พบได้น้อยกว่ามะเร็งผิวหนังชนิดอื่น ๆ แต่มีความรุนแรงมาก เนื่องจากสามารถแพร่กระจายไปยังต่อมน้ำเหลือง และอวัยวะอื่นในร่างกาย เช่น ปอด ตับ สมอง และกระดูก หากตรวจพบตั้งแต่ระยะเริ่มแรกสามารถรักษาให้หายขาดได้ ไฝกับการเกิดมะเร็งผิวหนัง หากมีไฝ 100 ตำแหน่งขึ้นไป ก็มีโอกาสที่จะเป็นมะเร็งผิวหนังมากกว่าคนปกติถึง 7 เท่า