ป.ป.ช. ชี้มูล 7 ขรก. ศุลกากร เอื้อเอกชนนำเข้ารถหรู สำแดงราคาต่ำเกินจริง

ป.ป.ช. ชี้มูล 7 ขรก. ศุลกากร เอื้อเอกชนนำเข้ารถหรู สำแดงราคาต่ำเกินจริง

View icon 108
วันที่ 25 มิ.ย. 2567 | 16.26 น.
ข่าวออนไลน์7HD
แชร์
เอื้อเอกชน ป.ป.ช. ชี้มูลอาญา-วินัย 7 เจ้าหน้าที่ศุลกากร ช่วยบริษัทเอกชนนำเข้ารถหรู 122 คัน สำแดงราคาต่ำกว่าความเป็นจริง เสียหายเกือบ 900 ล้าน ส่วนผู้ประกอบการ เจอฐานสนับสนุน ส่งอัยการสูงสุดฟ้องศาล

วันนี้ (25 มิ.ย.67) นายนิวัติไชย เกษมมงคล เลขาธิการคณะกรรมการสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ในฐานะโฆษกสำนักงาน ป.ป.ช. แถลงว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติชี้มูลความผิดคดีเกี่ยวกับการกระทำความผิดต่อหน้าที่ราชการ หลังจาก คณะกรรมการ ป.ป.ช. มอบหมายให้คณะไต่สวนเบื้องต้นไต่สวน กรณีมีเหตุอันควรสงสัยว่า นายชลิต นักวิชาการศุลกากรชำนาญการ สำนักงานศุลกากรกรุงเทพ กรมศุลกากร กับพวก ช่วยเหลือผู้ประกอบการนำเข้ารถยนต์ที่ไม่ใช่ตัวแทน ด้วยการรับราคารถยนต์นั่งใหม่สำเร็จรูปที่นำเข้าจากต่างประเทศ โดยสำแดงราคาต่ำกว่าความเป็นจริงเป็นราคาศุลกากร และตรวจปล่อยไปจากอารักขาศุลกากร รวมจำนวน 62 คัน (2 สำนวนคดี)

ข้อเท็จจริงจากการไต่สวน ปรากฏหลักฐานบัญชีราคาสินค้า (INVOICE) ซึ่งเป็นหลักฐาน ตามคำร้องขอความร่วมมือระหว่างประเทศในทางอาญาจากสาธารณรัฐอิตาลีว่า รถยนต์ยี่ห้อ LAMBORGHINI และยี่ห้อ MASERATI จำนวน 122 คัน ที่นำเข้าโดยบริษัทเอกชน 3 แห่ง มีการสำแดงราคาต่ำกว่าความเป็นจริง โดยเจ้าหน้าที่ศุลกากร 7 ราย ร่วมกันตรวจปล่อยรถยนต์จำนวนดังกล่าว ไปจากอารักขาของศุลกากร โดยรู้อยู่แล้วว่าราคาที่บริษัทผู้นำเข้าทั้งสามบริษัทสำแดงไม่ใช่ราคาที่ได้ชำระจริงและเป็นราคาที่ต่ำกว่าราคาซื้อขายจริง ทำให้บริษัทผู้นำเข้าได้ประโยชน์ในการชำระค่าภาษีอากรนำเข้าน้อยกว่าที่ต้องชำระจริง ระหว่างวันที่ 17 ม.ค.54 ถึงวันที่ 28 ต.ค.57 เป็นเหตุให้กรมศุลกากร กรมสรรพากร และกรมสรรพสามิต ได้รับความเสียหาย รวมเป็นเงินจำนวนไม่น้อยกว่า 897,148,369 บาท

คณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาแล้วมีมติว่า การกระทำของ นายชลิต, นายเอกสิทธิ์ (เสียชีวิตแล้ว), นายนิตย์ชัย, นายสนองชัย, นายธนพล, นายอภิชาต, นายพรชัย, และนายศรัณยพงศ์ ทั้งหมดเป็นเจ้าหน้าที่ศุลกากร มีมูลความผิดทางอาญา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 154 มาตรา 157 และมาตรา 162 (1) (4) ประกอบมาตรา 91 พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 123/1 (ปัจจุบันเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 172) ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 แล้วแต่กรณี และมีมูลความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรง ส่วนการกระทำของบริษัทเอกชนผู้นำเข้ารถ 3 แห่ง และเอกชนอื่นที่เกี่ยวข้อง มีมูลความผิดทางอาญา ฐานเป็นผู้สนับสนุนเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำความผิด และฐานความผิดอื่นที่เกี่ยวข้อง

ให้ส่งรายงานสำนวนการไต่สวน เอกสารหลักฐาน สำเนาอิเล็กทรอนิกส์ และคำวินิจฉัยไปยังอัยการสูงสุด เพื่อดำเนินคดีอาญา และส่งรายงาน สํานวนการไต่สวน เอกสารหลักฐาน และคําวินิจฉัยไปยังผู้บังคับบัญชา เพื่อดำเนินการทางวินัย ตามฐานความผิดดังกล่าว ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 91 (1) (2) และมาตรา 98 แล้วแต่กรณี

ทั้งนี้ ให้แจ้งกรมศุลกากรดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจ เพื่อให้มีการชดใช้ค่าเสียหาย ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 82 วรรคสอง และให้ส่งเรื่องให้ผู้บังคับบัญชาหรือ    ผู้มีอำนาจแต่งตั้งถอดถอน ดำเนินการทางวินัยไปตามหน้าที่และอำนาจกับผู้บังคับบัญชาของผู้ถูกกล่าวหา กรณีบกพร่องไม่ควบคุมกำกับดูแลการปฏิบัติงานของผู้ถูกกล่าวหา จนเป็นเหตุให้กรมศุลกากรได้รับความเสียหาย ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 64 ต่อไป สำหรับกรณีการนำเข้ารถยนต์ยี่ห้อ LAMBORGHINI และยี่ห้อ MASERATI อีกจำนวน 60 คัน อยู่ระหว่างการไต่สวน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง