องคมนตรี ตรวจเยี่ยมโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ และโรงเรียนที่อยู่ภายใต้การสนับสนุนของมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ ในพื้นที่จังหวัดพิษณุโลก

View icon 135
วันที่ 5 ก.ค. 2567 | 20.08 น.
ข่าวในพระราชสำนัก
แชร์
พลเรือเอก พงษ์เทพ หนูเทพ องคมนตรี ในฐานะประธานกรรมการบริหารมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ ไปตรวจเยี่ยมโรงเรียนกัลยาณิวัฒนา 1 อำเภอนครไทย จังหวัดพิษณุโลก เปิดสอนเมื่อปี 2508 โดยสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ พระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์ก่อสร้างอาคารเรียน ต่อมา สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี เสด็จพระราชดำเนินมาทรงเปิดอาคารเรียน เมื่อปี 2509 และพระราชทานนามว่า "โรงเรียนกัลยาณิวัฒนา 1" ปัจจุบัน เปิดสอนชั้นอนุบาล ถึงมัธยมศึกษาปีที่ 3 แบบสหศึกษา มีนักเรียน 177 คน

โรงเรียนฯ ส่งเสริมให้นักเรียนมีความรู้ ความสามารถด้านการอ่านออก เขียนได้ การคำนวณ และการใช้เทคโนโลยีเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต ตลอดจนทักษะตามความถนัด ทั้งยังน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และพระบรมราโชบายของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ด้านการศึกษามาปรับใช้ เพื่อให้นักเรียนชาวไทยพื้นราบและกลุ่มชาติพันธุ์เผ่าม้ง ได้รับโอกาสในการเข้าถึงการศึกษาที่ดีและมีคุณภาพอย่างต่อเนื่อง

โอกาสนี้ องคมนตรี เชิญสิ่งของพระราชทานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี ประกอบด้วย กระเป๋านักเรียนและผ้าห่ม ไปมอบให้นักเรียนเพื่อเป็นขวัญกำลังใจ ด้วย

จากนั้น ไปตรวจเยี่ยมการดำเนินงานโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 23 อำเภอนครไทย ในการนี้ เชิญสิ่งของพระราชทาน ประกอบด้วย กระเป๋า และผ้าห่ม ไปมอบให้นักเรียนด้วย

โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 23 เปิดสอนเมื่อปี 2537 ซึ่งพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ก่อสร้างบ้านพักครู หอนอน โรงครัว และหอถังน้ำ เพื่ออำนวยความสะดวกให้นักเรียนและบุคลากร ปัจจุบัน เปิดสอนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ถึงมัธยมศึกษาปีที่ 6 แบบศึกษาสงเคราะห์ มีนักเรียน 878 คน

โรงเรียนฯ มุ่งพัฒนาศักยภาพผู้เรียนให้อ่านออกเขียนได้ ทั้งภาษาไทย และภาษาอังกฤษ เพื่อเปิดโอกาส และช่วยเหลือนักเรียนที่ด้อยโอกาสทางการศึกษาพื้นที่ทุรกันดาร ที่ผ่านมา มีการพัฒนาทั้งบุคลากรและหลักสูตรการเรียนการสอน เพื่อเพิ่มสมรรถนะของผู้เรียน ส่งเสริมทักษะชีวิต และทักษะอาชีพ ตามบริบทของพื้นที่ และความต้องการของผู้เรียน เพื่อให้เท่าเทียมกับโรงเรียนต่าง ๆ ทั่วประเทศ มีการส่งเสริมทักษะด้านกระบวนความคิด ด้วยจินตคณิต ในนักเรียนชั้นประถมศึกษาที่มีความบกพร่องทางการเรียนรู้ และเด็กปกติ ซึ่งเป็นอีกวิธีในการพัฒนาอารมณ์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งเพื่อสร้างความสามัคคี กลมเกลียวอันเป็นพื้นฐานสำคัญในการอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข

ข่าวอื่นในหมวด