ล่อซื้อยาบีไฟว์ หลังร้านยาขายให้เด็ก 15 ปี เสพจนหลอนกระโดดให้รถชน

ล่อซื้อยาบีไฟว์ หลังร้านยาขายให้เด็ก 15 ปี เสพจนหลอนกระโดดให้รถชน

View icon 189
วันที่ 9 ก.ค. 2567 | 09.39 น.
ข่าวออนไลน์7HD
แชร์
ตำรวจล่อซื้อยาบีไฟว์ หลังร้านยาขายให้เด็ก 15 ปี เสพจนหลอนกระโดดให้รถชน เตือนผู้ปกครองระวังบุตรหลาน พบราคาถูก  ตรวจไม่พบสารเสพติด ระบาดในหมู่วัยรุ่น

วันนี้ (9 ก.ค.67) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วานนี้ เจ้าหน้าที่ตำรวจกองกับการสืบสวนตำรวจภูธรจังหวัดสมุทรปราการ วางแผนให้สายลับเข้าล่อซื้อยาอันตราย กับร้านขายยาแผนปัจจุบัน ย่านปากน้ำ อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรปราการ หลังสืบทราบว่า ร้านขายยาดังกล่าวจำหน่ายยาอันตรายหลายชนิดให้กับวัยรุ่น นำไปเสพทดแทนยาเสพติด โดยหลังจากให้สายลับล่อซื้อสามารถควบคุมตัว นายประชัย รับเป็นเจ้าของร้านขายยา จึงควบคุมตัวพร้อมของกลาง ได้แก่ 1.ยาแก้ไอชนิดน้ำ จำนวน 2 ขวด 2.ยา TRAMADOL จำนวน 30 แคปซูล และ 3.ยาบีไฟว์ จำนวน 169 เม็ด

พ.ต.ท. พันธกานต์ อุไรกุล สารวัตรสืบสวนจังหวัดสมุทรปราการ เปิดเผยว่า สืบเนื่องจากเจ้าหน้าที่ชุดสืบได้รับแจ้งว่า มีเยาวชนชายวัย 15 ปี มีอาการคล้ายคลุ้มคลั่ง คุมสติตัวเองไม่อยู่ พยายามจะกระโดดให้รถชน เมื่อเจ้าหน้าที่เข้าควบคุมตัวได้ จึงนำไปตรวจหาสารเสพติด แต่ไม่พบสารเสพติดในร่างกาย จึงเค้นสอบจนยอมรับว่า เสพยาบีไฟว์ 9 เม็ด จนเกิดอาการมึนเมาและเคลิ้ม โดยยาบีไฟว์มีราคาถูกกว่า และเสพทดแทนยาเสพติดชนิดอื่น

จากนั้นเจ้าหน้าที่จึงวางแผนให้สายลับเข้าไปล่อซื้อยาอันตรายควบคุมจำนวน 3 ชนิด ซึ่งร้านได้จำหน่ายให้สายลับที่เป็นเยาวชนโดยไม่ขอดูใบสั่งซื้อยาจากแพทย์ สอบถามอาการหรืออายุแต่อย่างใด และขณะที่เจ้าหน้าที่เข้าตรวจสอบที่ร้านขายยาดังกล่าวก็พบวัยรุ่นเข้าออกร้านนี้เป็นจำนวนมาก จึงแจ้งข้อกล่าวหา “ไม่จัดทำบัญชียาที่ซื้อและขายตามที่กำหนดในกฎกระทรวง” โทษปรับ 2,000 - 10,000 บาท นำส่งพนักงานสอบสวนดำเนินคดี

พ.ต.ท. พันธกานต์ กล่าวอีกว่า ฝากเตือนผู้ปกครองอาจไม่รู้ว่าวัยรุ่นกำลังนิยมใช้ยาชนิดนี้ไปประสมกับน้ำกระท่อม น้ำหวานดื่ม ซึ่งยาพวกนี้ครอบครองได้ไม่ผิดกฏหมาย ตรวจปัสสาวะก็ไม่พบสารเสพติด แต่เป็นยาที่อันตราย หากใช้มาก ๆ อาจเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิต สำหรับยา B5 (บีไฟว์) ใช้รักษาโรคพาร์กินสัน และใช้ควบคุมผลข้างเคียงจากการใช้ยาจิตเวช หากนำมาผสมสูตรดื่มกิน เพื่อใช้เป็นสารเสพติด จะเกิดอาการเคลิ้ม ลอย หลอน หากไม่ใช้ตามคำแนะนำของแพทย์ จะเกิดอันตรายถึงชีวิต จะมีอาการเอ๋อ ๆ หลง ๆ ลืม ๆ มึนงง ซึม ชัก หัวใจเต้นผิดจังหวะ เหงื่อออก พูดไม่ชัด อ่อนเพลีย ปัสสวะไม่ค่อยออก และอาจถึงขั้นเสียชีวิต ในปัจจุบันยังไม่มีการยกสถานะการจ่ายยาบีไฟว์ให้เหมือนกับยาแก้ไอ ยาแก้ปวดบางชนิดก่อนหน้านี้ที่มีการเอาไปใช้ในทางที่ผิดกันอย่างแพร่หลาย แต่ก็เป็นที่เฝ้าระวังถึงแนวโน้มของการระบาด ซึ่งจัดว่าเป็นมหันตภัยสำหรับวัยรุ่นยุคใหม่ไม่น้อย จนทำให้หลายคนถึงกับต้องเข้าโรคพยาบาลจิตเวชเลยทีเดียว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง