รมว.ยธ. กำชับช่วง 3 เดือนนี้ ขอปราบยาเสพติดแบบเข้มข้น

รมว.ยธ. กำชับช่วง 3 เดือนนี้ ขอปราบยาเสพติดแบบเข้มข้น

View icon 131
วันที่ 11 ก.ค. 2567 | 16.15 น.
ข่าวออนไลน์7HD
แชร์
รมว.ยธ. กำชับช่วง 3 เดือนนี้ ร่วมปราบยาเสพติดแบบเข้มข้น นักโทษคดียา 77% การศึกษาต่ำกว่าขั้นพื้นฐาน มอบ สธ. ตรวจสอบนักเรียนหลุดออกนอกระบบ ขณะที่ ป.ป.ส. เผยสถานการณ์ปัญหายาเสพติดมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง เป็นผลมาจากความสำเร็จของการบูรณาการ

วันนี้ (11 ก.ค.67) พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการติดตาม เร่งรัดการดำเนินงานป้องกัน ปราบปราม และแก้ไขปัญหายาเสพติด ครั้งที่ 2/2567 โดยกล่าวว่า อยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ร่วมกันบูรณาการเพื่อป้องกัน แก้ไข ปราบปรามยาเสพติด โดยเฉพาะในช่วง 3 เดือนนี้ แบบเข้มข้น เน้นในระดับชุมชน หมู่บ้านเพิ่มมากขึ้น จึงได้มีข้อสั่งการให้ตรวจสอบทุกพื้นที่ ค้นหาหาผู้เสพผู้ค้าในชุมชน โดยเฉพาะที่อายุตั้งแต่ 16 ปีขึ้นไป และนำร้อยเอ็ดโมเดล หรือโมเดลท่าวังผา ของจังหวัดน่าน มาขยายผลแก้ปัญหายาเสพติด

จากสถานการณ์ยาเสพติดในปัจจุบัน พบว่าการขนส่งยาเข้าสู่พื้นที่ภาคใต้มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น จึงอยากให้หน่วยงานรับผิดชอบช่วยกวดขัน สกัดกั้นตลอดเส้นทางที่เป็นการลำเลียงยาเสพติด ตั้งแต่บริเวณชายแดนภาคเหนือ ที่เป็นแหล่งผลิต โดยเฉพาะพื้นที่ที่เป็นรอยต่อระหว่างพื้นที่ภาคเหนือและภาคใต้ และในเร็ว ๆ นี้ จะเจรจาหารือกับทางจีนให้ช่วยเรื่องของการสกัดกั้น ควบคุมสารตั้งต้นและเคมีภัณฑ์ ย

พ.ต.อ.ทวี เน้นย้ำเรื่องการนำผู้เสพเข้าสู่กระบวนการบำบัด ทั้งผู้ที่ศาลสั่งคุมความประพฤติในคดีเสพสารเสพติดกว่า 1 แสนคน และผู้กระทำผิดฐานยาเสพติดที่ถูกคุมขังในเรือนจำโดยที่ยังไม่ได้รับการบำบัด เพื่อลดอัตราการกระทำผิดซ้ำ ที่มากถึง 61%  และพบว่าผู้ที่อยู่ในเรือนจำติดยาเสพติด จำนวน 229,320 คน ในจำนวนนี้ 77% มีการศึกษาต่ำกว่าขั้นพื้นฐานที่รัฐบาลให้เรียนฟรี โดยขอให้กระทรวงศึกษาธิการตรวจสอบนักเรียนที่หลุดออกจากระบบการศึกษา เพื่อลดจำนวนแนวโน้มผู้เสพยาเสพติด ในส่วนของกระทรวงยุติธรรมอยากเพิ่มโอกาสให้ผู้ต้องขัง เตรียมเรือนจำปรับเปลี่ยนเป็นสถานฟื้นฟูสมรรถภาพ เพื่อยกระดับเป็นศูนย์ฟื้นฟูสภาพทางสังคมต่อไป เพื่อลดการกระทำผิดซ้ำ

พล.ต.ท.ภาณุรัตน์ หลักบุญ เลขาธิการ ป.ป.ส. กล่าวว่า สถานการณ์ปัญหายาเสพติดในปัจจุบัน มีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง เป็นผลมาจากความสำเร็จของการบูรณาการทำงานร่วมกันของภาคีทุกภาคส่วน ทั้ง 4 เสาหลักในระดับพื้นที่ ประกอบด้วย ผู้ว่าราชการจังหวัด ผู้บังคับการตำรวจ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด  รวมถึงนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด และผู้บริหารหน่วยงานท้องถิ่นใน 25 จังหวัด ที่ร่วมกันขับเคลื่อนข้อสั่งการของรัฐบาลอย่างจริงจัง และประชาชนเข้ามามีบทบาท ช่วยเหลือเจ้าหน้าที่ในการเฝ้าระวังและแจ้งเบาะแส

ที่ประชุมได้สรุปสถานการณ์ปัญหายาเสพติด และสรุปผลการดำเนินงานปฏิบัติการเร่งรัดการดำเนินงานป้องกัน ปราบปราม และแก้ไขปัญหายาเสพติด ระยะเร่งด่วน 3 เดือน ในพื้นที่ 25 จังหวัดเร่งด่วน ดังนี้

1. ด้านการปราบปรามนักค้าและเครือข่ายยาเสพติด ผลการดำเนินการภาพรวมประสบผลสำเร็จมากกว่า 70%
2. การบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติด สามารถนำผู้เสพเข้ารับการบำบัดได้มากกว่า 90%
3. การนำผู้เสพในระบบคุมประพฤติเข้าสู่กระบวนการบำบัด ดำเนินการไปแล้วกว่า 84%
4. การดำเนินงานของศูนย์ฟื้นฟูสภาพทางสังคม จัดตั้งไปแล้วกว่า 2,348 แห่ง
5. การจัดระเบียบทางสังคมและการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน ในสถานบันเทิง สถานบริการ สถานศึกษา ดำเนินการไปแล้วกว่า 90%
6. สรุปผลการดำเนินงานตามตัวชี้วัดภาพรวมปฏิบัติการเร่งรัดการดำเนินงานป้องกัน ปราบปราม และแก้ไขปัญหายาเสพติด ระยะเร่งด่วน 3 เดือน (1 มิถุนายน – 31 สิงหาคม 2567) มีจำนวน 5 จังหวัดแรกที่ได้คะแนนตัวชี้วัดภาพรวมมากที่สุด คือ มหาสารคาม ขอนแก่น ชลบุรี สงขลา และสตูล