คณะกรรมการมูลนิธิราชทัณฑ์ปันสุข ทำความ ดี เพื่อชาติ ศาสน์ กษัตริย์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ ไปตรวจเยี่ยมโครงการราชทัณฑ์ปันสุข ทำความ ดี เพื่อชาติ ศาสน์ กษัตริย์ฯ ที่จังหวัดตาก

View icon 255
วันที่ 11 ก.ค. 2567 | 20.10 น.
ข่าวในพระราชสำนัก
แชร์
ที่เรือนจำอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก คณะกรรมการมูลนิธิราชทัณฑ์ปันสุข ทำความ ดี เพื่อชาติ ศาสน์ กษัตริย์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ นำโดย พลอากาศเอก สมคิด สุขบาง ไปตรวจเยี่ยมโครงการราชทัณฑ์ปันสุข ทำความ ดี เพื่อชาติ ศาสน์ กษัตริย์ฯ ซึ่ง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานโครงการฯ เพื่อให้ผู้ต้องขังเข้าถึงการรักษาพยาบาลอย่างเท่าเทียมตามหลักมนุษยธรรม และเมื่อพ้นโทษจะได้มีสุขภาพสมบูรณ์ทั้งกายและใจ กลับไปสู่สังคมภายนอกและประกอบอาชีพสุจริตได้อย่างมีคุณภาพ

เรือนจำอำเภอแม่สอด ควบคุมผู้ต้องขังกำหนดโทษไม่เกิน 10 ปี ปัจจุบันมีผู้ต้องขังชาย-หญิง 892 คน เป็นผู้ต้องขังต่างด้าว 358 คน ด้านสถานพยาบาลเรือนจำมีพยาบาล และนักจิตวิทยา 3 คน มีอาสาสมัครสาธารณสุขเรือนจำ 75 คน ได้รับพระราชทานเครื่องมือทางการแพทย์ 15 รายการ อาทิ เครื่องกระตุกไฟฟ้าหัวใจชนิดอัตโนมัติ, เครื่องผลิตออกซิเจนขนาด 10 ลิตร, ยูนิตทำฟันมีโรงพยาบาลแม่สอด เป็นโรงพยาบาลแม่ข่ายเข้าไปดำเนินงานด้านสุขภาพ อาทิ คัดกรองวัณโรค ตรวจหาเชื้อเอชไอวี ซิฟิลิส และไวรัสตับอักเสบซี ในผู้ต้องขังเข้าใหม่และรายเก่าทุกราย หากพบผู้ต้องขังป่วยจะนำเข้าสู่กระบวนการรักษาทันที สำหรับผู้ต้องขังหญิงได้รับการคัดกรองมะเร็งเต้านมและมะเร็งปากมดลูก มีแพทย์และทันตแพทย์เข้าตรวจเดือนละ 1 ครั้ง จิตแพทย์เข้าตรวจ 3 เดือนต่อครั้ง มีการขึ้นทะเบียนสิทธิหลักประกันสุขภาพให้ผู้ต้องขังกับโรงพยาบาลแม่ข่าย, ด้านสุขภาพจิต พบผู้ต้องขังมีปัญหาสุขภาพจิต 22 คน ได้รับการรักษาทุกคน, ด้านการบำบัดฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ต้องขังติดยาเสพติด คัดกรองและส่งต่อผู้ป่วยเพื่อรับการบำบัดรักษาผ่านโปรแกรมต่าง ๆ มีการพัฒนาพฤตินิสัยผู้ต้องขังด้วยอาชีวบำบัด และศาสนบำบัด

ในตอนบ่าย ไปตรวจเยี่ยมโรงพยาบาลแม่สอด ซึ่งเป็นโรงพยาบาลแม่ข่ายในการรับผู้ต้องขังป่วยไปรักษา มีบริการตรวจรักษาด้วยระบบ Telemedicine เพิ่มช่องทางการเข้าถึงบริการด้านสุขภาพของผู้ต้องขัง ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการเข้าถึงการรักษาโดยไม่จำเป็นต้องเดินทางไปรักษาในโรงพยาบาล สามารถรับการวินิจฉัยและตรวจรักษาจากแพทย์และแพทย์เฉพาะทางได้ตลอด 24 ชั่วโมง นอกจากนี้ ยังมีห้องสำหรับรักษาผู้ต้องขังป่วยแยกออกจากผู้ป่วยทั่วไป เพื่อเป็นการพิทักษ์สิทธิ์ผู้ป่วยและด้านความปลอดภัย โดยปี 2567 รับผู้ต้องขังป่วยเข้ารับการรักษาแบบไป-กลับ 349 ครั้ง และแบบนอนพัก 52 ครั้ง โรคที่พบมาก อาทิ วัณโรค โรคไส้เลื่อน และโรคภาวะขาดสุรา

ข่าวอื่นในหมวด