จับตา ประธาน สว.-รองประธาน สว. ก.ค.นี้

View icon 122
วันที่ 12 ก.ค. 2567 | 11.24 น.
ห้องข่าวภาคเที่ยง
แชร์
ห้องข่าวภาคเที่ยง - จับตาสมาชิกวุฒิสภา 200 คน ว่า บุคคลใดจะได้รับความไว้วางใจมานั่งประธาน สว. และรองประธาน สว. เพื่อทำหน้าที่กลั่นกรองกฎหมาย ที่จะมาจากตัวเต็งทางการเมือง หรือจะเป็น สว.ที่มาอาชีพอื่น ๆ ที่สมัครเป็น สว.

จับตา ประธาน สว.-รองประธาน สว. ก.ค.นี้
การเลือกบุคคลที่มาเป็นประธาน สว. มีไม่มากจากที่เคยทำงานร่วมกับฝ่ายการเมือง หรือเคยผ่านตำแหน่งใหญ่ ๆ มาก่อน อย่างเช่น นายมงคล สุระสัจจะ อดีตอธิบดีกรมการปกครอง และอดีตผู้ว่าราชการจังหวัดบุรีรัมย์ ที่ถูกจับจ้องตั้งแต่วันแรก เพราะกุมเสียงของเครือข่ายบ้านใหญ่บุรีรัมย์ไว้เยอะ หรือ พลเอก เกรียงไกร ศรีรักษ์ อดีตแม่ทัพภาคที่ 4 ที่เคยเป็นประธานคณะทำงานของ นายอนุทิน ชาญวีรกูล จากกลุ่มที่ 1 กลุ่มการบริหารราชการแผ่นดินและความมั่นคง

ส่วนรองประธาน สว. ก็มีตัวเต็งเช่นกันอย่าง นายบุญส่ง น้อยโสภณ อดีต กกต. ส่วนรองประธาน สว. อีกคนน่าจะภาคประชาสังคม หรือกลุ่มสื่อสารมวลชน อย่าง นางนันทนา นันทวโรภาส หรือ นางอังคณา นีละไพจิตร 

จากการสอบถาม สว.ส่วนใหญ่ ยังคงสงวนท่าที ขอดูวันประชุมนัดแรกว่าจะมีการเสนอชื่อใครบ้าง และวันนี้ยังมี สว.เข้ารายงานตัวต่อเนื่อง ที่จะเปิดถึงวันที่ 15 กรกฎาคมนี้ และเมื่อรายงานตัวครบ สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา จะส่งหนังสือเชิญประชุมนัดแรก เพื่อทำการเลือกประธาน และรองประธาน สว. คาดว่าจะเป็นวันที่ 23 กรกฎาคม

ส่วนกระแสวิพากษ์วิจารณ์วุฒิการศึกษาของ แพทย์หญิงเกศกมล เปลี่ยนสมัย ที่ได้รับเลือกเป็น สว. ด้วยคะแนนสูงสุด ได้ออกมายืนยันก่อนหน้านี้แล้วว่า ได้ถูกตรวจสอบเรื่องวุฒิการศึกษาตั้งแต่เป็นผู้สมัครระดับอำเภอ ที่มีการชี้แจงด้วยเอกสารไปแล้ว

ข้อเท็จจริง การใช้ ศ. พญ.
ข้อมูลจากสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน หรือ ก.พ. ไม่พบว่ามีการรับรองตำแหน่งจาก California University U.S.A. ให้เป็นศาสตราจารย์ในไทย ส่วนที่ ก.พ.รับรอง คือ University of California

ส่วนตำแหน่ง "แพทย์หญิง" หากบุคคลนั้นเรียนจบแพทย์ และได้รับการฝึกหัดเป็นหมออินเทิร์น และรับปริญญา ถือว่าบุคคลนั้นเป็นแพทย์จบสมบูรณ์ แพทยสภารับรองให้

กรณี "หมอเกศ" ยืนยันว่า จบปริญญาตรี หลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิต (วิทยาลัยแพทยศาสตร์) มหาวิทยาลัยรังสิต และในประวัติยังระบุเป็นแพทย์เวชศาสตร์ป้องกัน แขนงสุขภาพจิตชุมชน

เรื่องนี้ สอบถามไปยัง นายแพทย์ ศุภเสก วิโรจนาภา หัวหน้าสถาบันฝึกอบรมแพทย์ประจำบ้าน สาขาเวชศาสตร์ป้องกัน (สุขภาพจิตชุมชน) ให้ข้อมูลว่า แพทย์เวชศาสตร์ป้องกัน แขนงสุขภาพจิตชุมชน เป็นหลักสูตรการฝึกอบรม มีให้เลือกแบบระยะสั้น 5 เดือน และระยะยาว 3 ปี เปิดอบรมมาตั้งแต่ปี 2546

ส่วนเงื่อนไข คือ ต้องเรียนจบแพทย์เท่านั้น กรณีหลักสูตรระยะสั้น ผู้สมัครต้องมีประสบการณ์เป็นแพทย์มาแล้ว 5 ปี ส่วนหลักสูตรระยะยาว ต้องมีประสบการณ์มาแล้ว 1 ปี

ข่าวที่เกี่ยวข้อง