ปักหมุดของดีทั่วไทย : ผ้าสีมายา ผืนผ้าฝีมือชุมชนหน้าถ้ำ จ.ยะลา

View icon 63
วันที่ 18 ก.ค. 2567 | 07.26 น.
สนามข่าว 7 สี
แชร์
สนามข่าว 7 สี - ปักหมุดของดีทั่วไทย วันนี้ไปที่จังหวัดยะลา ชาวบ้านนำดินมายาที่ทับถมนับพันปี ที่คนโบราณ ใช้วาดภาพฝาผนังถ้ำ นำมาย้อมสี และวาดลวดลายบนเนื้อผ้า ติดตามจาก คุณอรรถพล ดวงจินดา

ดินสีมายา หรือ ดินหน้าถ้ำ เป็นวัสดุหลัก ที่กลุ่มผลิตภัณฑ์ผ้ามัดย้อม "สีมายา" จังหวัดยะลา นำมาใช้เป็นสีย้อมผ้า ด้วยคุณสมบัติ ของดินที่เกิดจากการหมักหมม ทับทมกันของตะกอนดิน และขี้ค้างคาวนับพันปี ทำให้สีติดทนนาน ส่วนกรรมวิธี ก็ง่ายมาก แค่นำดินมาละลายน้ำ จนคายสีส้มคล้าย ๆ สีอิฐ แล้วนำมาใช้เป็นสีย้อมผ้า ที่ปัจจุบันกลายเป็นผลิตภัณฑ์สร้างชื่อของจังหวัดยะลาไปแล้ว

การทำผ้ามัดย้อมที่นี่ มีการออกแบบ โดยกลุ่มหัตถกรรมหญิงหน้าถ้ำ นำผ้ามาผูก พับ รัด ด้วยหนังยาง ก่อนนำไปย้อมบนสี ที่เน้นใช้วัสดุจากธรรมชาติในพื้นถิ่น จนได้ลวดลายผ้ามัดย้อมที่เป็นเอกลักษณ์ โดยผสมผสานการแต่งเติมลายพิมพ์ การวาด ระบายสี บอกเล่าเรื่องราวในท้องถิ่น ผ่านงานหัตถกรรมบนผืนผ้าได้อย่างน่าสนใจ

ผ้าสีมายา ได้รับการผลักดัน ยกให้เป็นผ้าประจำจังหวัดยะลา โดย นายกรัฐมนตรี พร้อมคณะได้ใส่ผ้าสีมายา ลงพื้นที่จังหวัดยะลาด้วย ปัจจุบันผลิตเป็นผ้าเช็ดหน้า ผ้าพันคอ เสื้อยืด และอื่น ๆ ตามยุค ร่วมสมัย ใส่ในงานแฟชั่นได้อย่างสวยงาม

ผ้ามัดย้อม "สีมายา" นับว่าเป็นความภาคภูมิใจของชาวจังหวัดยะลา จนสร้างรายได้ให้ชุมชนทั้งชาวไทยพุทธ-มุสลิม ส่วนใครที่สนใจ เข้าไปค้นหา กลุ่มสีมายา หน้าถ้ำ ได้เลย

#สนามข่าว7สี #ปักหมุดของดีทั่วไทย #ผ้าสีมายา