เฮ! ครม. เคาะต่อเวลาตรึงค่าไฟฟ้า 4.18 บาท/หน่วย จนถึงสิ้นปี 67 ส่วนราคาน้ำมันดีเซลตรึงไว้ที่ 33 บาท/ลิตร จนถึง 31 ต.ค.นี้
วันนี้ (23 ก.ค.67) นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ที่ประชุมรับทราบตามที่กระทรวงพลังงานเสนอ เกี่ยวกับมาตรการลดราคาพลังงาน ซึ่งเรื่องนี้นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นผู้แถลง
นายพีระพันธุ์ กล่าวว่า เรื่องค่าไฟฟ้า ที่ประชุม ครม.มีมติต่อระยะเวลาตรึงราคา 4.18 บาทต่อหน่วยไปอีก 4 เดือน (กันยายน - ธันวาคม) รวมถึงการช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางที่ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 300 หน่วยต่อเดือนอยู่ที่ 3.99 บาทต่อหน่วย เช่นเดิม ส่วนกระแสข่าวที่ว่า จะขึ้นค่าไฟฟ้านั้น ยืนยันว่า ไม่มี
“ส่วนการตรึงราคาไฟฟ้าให้อยู่ในราคาดังกล่าวนั้น กระทรวงพลังงานมีวิธีการของตนเอง ยืนยันว่าจะไม่มีผู้ใดเดือดร้อน และไม่ได้ให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ต้องไปแบกรับ ซึ่งจะได้เงินส่วนต่างจากค่าไฟฟ้าไปจ่าย แต่จะจ่ายในจำนวนที่ลดน้อยลง และนำไปชำระหนี้ให้ กฟผ. ด้วย ซึ่งการชำระจะจ่ายตามงวดค่าไฟฟ้า และการชำระหนี้ไม่จำเป็นต้องจ่ายในงวดเดียวทั้งหมด เพราะการจ่ายหนี้งวดเดียวจบ ประชาชนจะเป็นผู้เบาะแบกรับหนี้ ซึ่งไม่มีเหตุจำเป็นที่จะทำเช่นนั้น ฉะนั้นการทยอยจ่ายเป็นรายงวดก็มีค่าเท่ากัน
นอกจากนี้ ในที่ประชุมยังมีมติตรึงราคาน้ำมันดีเซลอยู่ที่ 33 บาทต่อลิตร โดยใช้มาตรการจากสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ไปจนถึงวันที่ 31 ตุลาคม 2567
ส่วนการตรึงราคาน้ำมันนั้น จะเป็นการตรึงราคาน้ำมันดีเซลเพียงอย่างเดียว แต่ผู้ใช้น้ำมันเบนซินก็เดือดร้อนเช่นกัน นายพีระพันธุ์ กล่าวว่า กลไกน้ำมันเป็นเช่นนี้มานานนับเวลา 50 ปี ซึ่งตนก็ไม่พอใจ แต่ขณะนี้กำลังดำเนินการแก้ไข ซึ่งอยู่ระหว่างการร่างเป็นกฎหมาย ขณะนี้ได้ร่างกฎหมายต้นฉบับเสร็จเรียบร้อยแล้ว กำลังส่งให้ฝ่ายกฎหมายของทีมตรวจสอบ และจะส่งให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจสอบอีกครั้ง ซึ่งเชื่อว่าจะสามารถแก้ไขปัญหาเรื่องราคาน้ำมันที่ขึ้นอยู่ในทุกวันได้
เมื่อถามว่าร่างกฎหมายดังกล่าว จะไม่ทันใช้ในวันที่ 31 ตุลาคมนี้ใช่หรือไม่ นายพีระพันธุ์ ยืนยันว่า ไม่ทัน เพราะต้องส่งเข้าสู่สภาผู้แทนราษฎรพิจารณา อย่างไรก็ตาม ขณะนี้กำลังจะมีร่างกฎหมาย เพราะที่ผ่านมา 50 ปี ไม่เคยมีร่างกฎหมายนี้
เมื่อถามย้ำว่าหลังวันที่ 31 ตุลาคมนี้ จะมีการบริหารเรื่องราคาน้ำมันอย่างไร ระหว่างรอร่างกฎหมายดังกล่าว นายพีระพันธุ์ ชี้ว่าต้องใช้ตามกฎหมายเดิมไปก่อน แต่หากมีการเปลี่ยนแปลงเมื่อไหร่ ก็มีการปรับระบบทั้งหมด พร้อมเชื่อว่าหลังวันที่ 31 ตุลาคมนี้ กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงยังจะแบกรับไหวอยู่ อย่างไรก็ตาม ต้องไปพูดคุยกับกระทรวงการคลังว่าจะมีวิธีการอย่างไรต่อไป
เมื่อถามถึงการแก้ไขปัญหาโครงสร้างราคาน้ำมันจะได้รับความร่วมมือจากฝ่ายอื่นหรือไม่ หรือจะมีการขัดแข้งขัดขากันหรือไม่ นายพีระพันธุ์ กล่าวว่า ไม่มี เพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องของผลประโยชน์ประชาชน และประชาชนคือผู้ได้ผลประโยชน์โดยรวม จากการพูดคุยกับพรรคร่วมรัฐบาลก็ไม่มีใครมีปัญหา