เส้นทางชีวิตกว่าจะมีวันนี้ ทุกย่างก้าวทางการงาน และการเมือง สู่ประมุขของสภาสูง
หลังวานนี้ (24 ก.ค.67) ที่ประชุมวุฒิสภานัดแรกผ่านการเลือกผู้ดำรงตำแหน่ง ประธาน และรองประธานวุฒิสภาแล้ว โดยนับจากนี้ เลขาธิการวุฒิสภาจะทำหนังสือแจ้งไปยังนายกรัฐมนตรีเพื่อนำความขึ้นกราบบังคมทูลเพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งต่อไป และจะมีพิธีรับพระบรมราชโองการ มีรายงานว่าอย่างเร็วที่สุดจะเป็นภายในวันศุกร์ที่ 26 ก.ค.นี้
สำหรับประธาน และรองประธานวุฒิสภา แต่ละท่านมีประวัติ พอสังเขปดังนี้
นายมงคล สุระสัจจะ ประธานวุฒิสภา อายุ 71 ปี ข้าราชการบำนาญ อดีตอธิบดีกรมการปกครอง เป็นชาวอำเภอหนองโดน จังหวัดสระบุรี สำเร็จการศึกษาคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง เข้ารับราชการในสังกัดกระทรวงมหาดไทยเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 8 ม.ค. 2522 ในตำแหน่งปลัดอำเภอศรีเชียงใหม่ จังหวัดหนองคาย
ต่อมาในปี 2532 นายมงคล ย้ายมาเป็นปลัดอำเภอธัญบุรี จังหวัดปทุมธานี จึงได้พบกับนายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช ( รมว.กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ในปัจจุบัน) ที่เวลานั้นเป็นรองผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานี ได้สนับสนุนเรื่อยมา เมื่อนายเสริมศักดิ์ ย้ายไปดำรงตำแหน่งผู้ว่าฯนครพนม นายมงคลไปเป็นนายอำเภอศรีสงคราม อำเภอธาตุพนม อำเภอบ้านนา จังหวัดนครนายก และอำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี ก่อนจะได้รับการแต่งตั้งเป็นรองผู้ว่าราชการจังหวัดบุรีรัมย์ และจังหวัดศรีสะเกษตามลำดับ
ต่อมาในปี 2551 นายมงคล ย้ายมาดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดบุรีรัมย์ จึงได้รู้จักกับ นายเนวิน ชิดชอบ ซึ่งเวลานั้นสังกัดพรรคพลังประชาชน ก่อนที่ภายหลังพรรคถูกยุบจะแยกตัวออกมาก่อตั้งพรรคภูมิใจไทย ต่อมาในปลายปี 2552 นายชวรัตน์ ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย (บิดานายอนุทิน ชาญวีรกูล) ได้โยกย้าย นายมงคลจากผู้ว่าราชการจังหวัดบุรีรัมย์ มาเป็นอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน จากนั้นเป็นอธิบดีกรมการปกครอง และปลายปีเดียวกันมีการเสนอชื่อนายมงคลเป็นปลัดกระทรวงมหาดไทย ซึ่งหากได้รับการแต่งตั้ง จะเป็นศิษย์เก่าคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง คนแรกที่ดำรงตำแหน่งนี้ และที่ประชุมมีมติเห็นชอบให้แต่งตั้ง แต่ภายหลังสมาคมข้าราชการบำนาญกระทรวงมหาดไทย ทูลเกล้าฯ ถวายฎีกาคัดค้านการแต่งตั้ง จากกรณีทุจริตการเช่าซื้อคอมพิวเตอร์ นายมงคลจึงแถลงถอนตัวเมื่อวันที่ 16 ต.ค. 2553
ทั้งนี้หลังนายมงคล เกษียณอายุราชการ ได้กลับไปใช้ชีวิตเกษตรกร ก่อตั้งไร่เพื่อนคุณ ที่อำเภอประโคนชัย จังหวัดบุรีรัมย์ และลงสมัครรับเลือกสมาชิกวุฒิสภา ปี 2567 และได้รับเลือกเป็นประธานวุฒิสภา ด้วย 159 คะแนน
พล.อ.เกรียงไกร ศรีรักษ์ รองประธานวุฒิสภา คนที่ 1 ได้ 150 คะแนน เคยดำรงตำแหน่งในราชการสูงสุดเป็นผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก และอดีตแม่ทัพภาคที่ 4 จบโรงเรียนเตรียมทหารรุ่น 22 และเป็นนักเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า รุ่น 33 รุ่นเดียวกับ พล.อ.ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ อดีตผู้บัญชาการทหารบก
เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งแม่ทัพภาคที่ 4 พล.อ.เกรียงไกร ได้นั่งเฮลิคอปเตอร์ “แบล็กฮอว์ก” ปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และจอดฉุกเฉินที่ จ.สงขลา แรงกระแทกทำให้เขาได้รับบาดเจ็บกระดูกสะโพกขวาหัก นายอนุทิน ชาญวีรกูล ขณะนั้นเป็นรองนายกฯ และ รมว.สาธารณสุข ได้ไปเยี่ยม พล.อ.เกรียงไกร หลายครั้งในฐานะเพื่อนร่วมรุ่น วปอ.61
ต่อมาหลังพล.อ.เกรียงไกร เกษียณอายุราชการ นายอนุทิน เป็นรองนายกรัฐมนตรี และ รมว.มหาดไทย ในรัฐบาลปัจจุบัน ได้แต่งตั้งให้เป็นประธานคณะที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย
“ผมไม่ได้ใกล้ชิดกับพรรคการเมือง ไม่เคยเป็นสมาชิกพรรคการเมือง เพียงแต่ว่าเป็นเพื่อนสนิทท่านอนุทิน ตั้งแต่สมัยเรียน วปอ.”พล.อ.เกรียงไกรกล่าว
นายบุญส่ง น้อยโสภณ รองประธานวุฒิสภา คนที่ 2 แม้จะไม่ใช่สว.สายน้ำเงิน แต่น่าจะไม่พลาดกับตำแหน่งนี้ เนื่องจาก นายมงคล สุระสัจจะ เป็นผู้เสนอชื่อนายบุญส่ง ในที่ประชุมวุฒิสภาเอ บวกแรงหนุนจาก สว.กลุ่มอิสระ ทำให้ได้คะแนนสูงที่สุดถึง 167 คะแนน การศึกษาจบนิติศาสตรบัณฑิต (เกียรตินิยมอันดับสอง) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเนติบัณฑิตไทย สำนักอบรมศึกษากฎหมายเแห่งเนติบัณฑิตยสภา และนิติศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เคยดำรงตำแหน่ง ประธานศาลอุทธรณ์ภาค 7 และ กรรมการการเลือกตั้ง ล่าสุดเคยเป็นที่ปรึกษา นายศุภชัย สมเจริญ อดีตรองประธานวุฒิสภา คนที่ 2 นาน 5 ปี โดดเด่นในฐานะที่เข้าใจบทบาทอำนาจหน้าที่ของ สว.และเปิดกว้างรับฟังความคิดเห็นของทุกฝ่าย
อย่างไรก็ตาม จากคะแนนที่สูงเป็นกลุ่มก้อนประมาณ 150 เสียง จึงไม่เหนือความคาดหมายที่หลายฝ่ายจะวิเคราะห์ทิศทางของวุฒิสภา นับจากนี้ สิ่งที่ต้องจับตามองคือ การแต่งตั้งประธานและตำแหน่งต่างๆในคณะกรรมาธิการสามัญ วุฒิสภา ชุดต่างๆ ว่า สว. กลุ่มอื่นๆ ที่ไม่ใช่กลุ่มสายน้ำเงิน จะได้รับชัยชนะสอดแทรกในกรรมาธิการสำคัญตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล และสภาล่าง มากน้อยเพียงใด