แถลงแล้ว ลงทะเบียนเงินดิจิทัล 1 หมื่น คนไม่มีมือถือ เช็ก!

แถลงแล้ว ลงทะเบียนเงินดิจิทัล 1 หมื่น คนไม่มีมือถือ เช็ก!

View icon 21.6K
วันที่ 24 ก.ค. 2567 | 11.54 น.
เกาะกระแสออนไลน์
แชร์
เคาะ! ลงทะเบียนเงินดิจิทัล 10,000 บาท ผ่านแอปฯ ทางรัฐ วันที่ 1 ส.ค. - 15 ก.ย.67 กลุ่มไม่มีสมาร์ตโฟน 16 ก.ย.-15 ต.ค.67

เงินดิจิทัล 10,000 บาท อัปเดตความคืบโครงการเติมเงิน 10,000 บาทผ่านดิจิทัลวอลเล็ต (Digital Wallet) ล่าสุดวันนี้ (24 ก.ค.67) ที่ทำเนียบรัฐบาล นายพิชัย ชุณหวชิร  รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานการแถลงข่าว "ดิจิทัลวอลเล็ต โครงการเพื่อประชาชน พร้อมขับเคลื่อนเศรษฐกิจแล้ววันนี้" โดยมีนายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ร่วมแถลงด้วย สรุปรายละเอียดดังนี้

ลงทะเบียนรับเงินดิจิทัล 10,000 บาท

กลุ่มมีสมาร์ตโฟน
การลงทะเบียนประชาชนทั่วไป ระหว่างวันที่ 1 สิงหาคม - 15 กันยายน 2567 จะดำเนินการผ่านแอปพลิเคชัน "ทางรัฐ" บนสมาร์ตโฟน โดยไม่มีการจำกัดจำนวนประชาชนที่จะเข้าร่วมใช้สิทธิ์ในโครงการฯ ดังนั้น ประชาชนทุกคนที่มาลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการและมีคุณสมบัติครบถ้วน ก็สามารถเข้าร่วมโครงการได้ ซึ่งรัฐบาลได้ประมาณการไว้จำนวน 45 - 50 ล้านคน

กลุ่มที่ไม่มีสมาร์ตโฟน
การลงทะเบียนประชาชนกลุ่มที่ไม่มีสมาร์ตโฟน ขณะนี้อยู่ระหว่างเตรียมการให้เข้าร่วมโครงการฯ ได้ในระยะต่อไป โดยจะให้มีการลงทะเบียนและยืนยันตัวตนผ่านช่องทางที่กำหนด (ระหว่างวันที่ 16 กันยายน – 15 ตุลาคม 2567) ซึ่งจะต้องมีการตรวจสอบคุณสมบัติ สถานะบุคคล และที่อยู่ตามทะเบียนบ้าน เช่นเดียวกับกลุ่มผู้มีสมาร์ตโฟน

สำหรับส่วนของการใช้จ่ายนั้นอยู่ระหว่างการพิจารณาให้ใช้สิทธิผ่านบัตรประจำตัวประชาชน แต่การใช้สิทธิซื้อสินค้าจากร้านค้าจะทำได้ในวงแคบกว่าการใช้สิทธิของประชาชนกลุ่มที่มีสมาร์ตโฟน ดังนั้น การลงทะเบียนผ่านสมาร์ตโฟนจะสามารถใช้งานได้สะดวกกว่า จึงแนะนำให้พยายามลงทะเบียนผ่านทางสมาร์ตโฟนก่อนเป็นอันดับแรก

กลุ่มร้านค้า
สำหรับการลงทะเบียนร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการเงินดิจิทัล 10,000 บาท ในเบื้องต้นกำหนดไว้ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2567 ซึ่งจะมีการแถลงข่าวเพิ่มเติมเพื่อแจ้งเกี่ยวกับคุณสมบัติของร้านค้า ช่องทางและวิธีการสมัครเข้าร่วมโครงการฯ และเงื่อนไขอื่น ๆ ให้ทราบต่อไป

คุณสมบัติประชาชน ผู้มีสิทธิเข้าร่วมโครงการเงินดิจิทัล 10,000 บาท
1.ประชากรที่มีที่อยู่ในทะเบียนบ้าน
2.สัญชาติไทย
3.มีอายุตั้งแต่ 16 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป ณ วันที่ปิดรับลงทะเบียน (15 กันยายน 2567)
4.ไม่เป็นผู้มีรายได้เกิน 840,000 บาท สำหรับปีภาษี 2566
5.เงินฝากกำหนดไม่เกิน 500,000 บาท ทั้งในส่วนของธนาคารพาณิชย์ และธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ อาทิ เงินฝากกระแสรายวัน เงินฝากออมทรัพย์ เงินฝากประจำ บัตรเงินฝาก ใบรับเงินฝาก ผลิตภัณฑ์เงินฝาก แต่ไม่นับรวมสลากออมทรัพย์ นับยอดบัญชีเงินฝากถึงวันที่ 31 มีนาคม 2567 เงินฝากอยู่ในสกุลเงินบาทเท่านั้น
6.ไม่เป็นผู้ที่อยู่ระหว่างต้องโทษจำคุกในเรือนจำ
7.ไม่เป็นผู้ที่ถูกระงับสิทธิหรือถูกเรียกเงินคืนในมาตรการ/โครงการอื่น ๆ ของรัฐ
8.ไม่เป็นผู้ฝ่าฝืนเงื่อนไขของมาตรการ/โครงการอื่น ๆ ของรัฐ

อัปเดต! แอปพลิเคชัน "ทางรัฐ" ช่องทางลงทะเบียนเงินดิจิทัล 10,000 - ยืนยันตัวตนได้แล้ว ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป

ล่าสุดขณะนี้เมื่อเปิดเข้าไปที่แอปพลิเคชัน "ทางรัฐ" ในเมนู "นโยบายรัฐบาล" หน้าจอจะปรากฏแถบ "ขอรับสิทธิ Digital Wallet" ขึ้นมาแล้ว แต่ยังไม่สามารถลงทะเบียนได้ ซึ่งคนที่ยืนยันตัวตนแล้วเรียบร้อย ก็รอนับวันลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการได้เลย 

ส่วนกลุ่มที่ยังไม่เคยยืนยันตัวตน ตอนนี้สามารถยืนยันตัวตนได้แล้ว โดยหน้าจอของท่าน จะปรากฏทางเลือกวิธียืนยันตัวตนขึ้นมาให้ สามารถเลือกได้ตามช่องทางที่สะดวกได้เลย ดังนี้

อ่านข่าว : ลงทะเบียนเงินดิจิทัล 10,000 ยืนยันตัวตนได้ 6 ช่องทาง

1.ยืนยันตัวตนผ่านแอปฯ ทางรัฐ (ช่องทางนี้ง่ายและสะดวกที่สุด)
2.ยืนยันตัวตนผ่านแอปฯ Thai ID
3.ตู้บริการอเนกประสงค์ภาครัฐ
4.ตู้บุญเติม
5.เคาน์เตอร์ไปรษณีย์ไทย
6.เคาน์เตอร์เซอร์วิส 7-Eleven

66a08e1149a8f9.61652374.jpg66a08e11046eb6.30178219.jpg

อย่างไรก็ตาม หากประชาชนที่ยังไม่เคยติดตั้งแอปพลิเคชัน "ทางรัฐ" รัฐบาลได้แนะนำว่าให้ดาวน์โหลดและทำการยืนยันตัวตนตามวิธีข้างต้นไว้ก่อนได้เลย ซึ่งจะทำให้คงเหลือขั้นตอนลงทะเบียนตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม เป็นต้นไป ง่ายและรวดเร็วกว่า โดยสามารถดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน "ทางรัฐ" ได้ที่นี่

App Store
Google Play


เงื่อนไขการใช้จ่ายเงินดิจิทัล 10,000 บาท

1.การใช้จ่ายระหว่างประชาชนกับร้านค้า : ประชาชนจะสามารถใช้จ่ายได้กับร้านค้าขนาดเล็ก รวมถึงร้านสะดวกซื้อขนาดเล็ก โดยไม่รวมห้างสรรพสินค้า ห้างค้าปลีก-ค้าส่งสินค้าขนาดใหญ่ระดับประเทศและระดับท้องถิ่น และในการซื้อสินค้า หากประชาชนมีที่อยู่ตามทะเบียนบ้านในอำเภอใด ก็ต้องซื้อสินค้าจากร้านค้าในอำเภอเดียวกันเท่านั้น และต้องซื้อขายแบบพบหน้า (Face to Face)

ซึ่งคำว่าซื้อขายแบบพบหน้านี้ จะมีการตรวจสอบ (1) ที่อยู่ของร้านค้าตามที่ลงทะเบียนโครงการฯ (2) ที่อยู่ของประชาชนตามทะเบียนบ้านในขณะที่ลงทะเบียนโครงการฯ และ (3) พิกัดที่อยู่ของประชาชนในขณะที่ใช้จ่ายกับร้านค้าต้องอยู่ในเขตอำเภอเดียวกันการชำระเงินจึงจะสมบูรณ์

2.การใช้จ่ายระหว่างร้านค้ากับร้านค้า : ร้านค้าทุกประเภทสามารถซื้อขายสินค้าระหว่างกันได้ และไม่มีการกำหนดเงื่อนไขว่าต้องเป็นการซื้อขายแบบพบหน้า (Face to Face) จึงซื้อขายสินค้าระหว่างกันได้แม้จะอยู่ต่างพื้นที่

ข้อมูลจาก รัฐบาลไทย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง