สนามข่าว 7 สี - ผลกระทบจากน้ำป่าหลากท่วมพื้นที่จังหวัดกาญจนบุรี ทำให้ปลากระชังน็อกน้ำตายเกลื่อนแม่น้ำ เกษตรกรผู้เลี้ยงปลากระชังบางรายขาดทุน
ผู้เลี้ยงขาดทุน ปลากระชังน็อกน้ำตาย
นี่เป็นภาพถ่ายมุมสูงเผยให้เห็นสภาพปลาทับทิมที่เลี้ยงในกระชัง บริเวณริมแม่น้ำแควน้อย ช่วงเขตตำบลเกาะสำโรง อำเภอเมือง กาญจนบุรี น็อกน้ำตายลอยเป็นแพ
ถามเจ้าของ นายจะตุพร ชื่นพล กำนันตำบลเกาะสำโรง และประธานชมรมเกษตรกรเลี้ยงปลากระชัง บอกว่า หลายวันก่อนที่มีน้ำป่าไหลบ่าลงแม่น้ำแควน้อย ปีนี้ถือว่าหนักกว่าทุกปี ทำให้ปลาทับทิมบางส่วน หลุดออกกระชัง หายไปกับกระแสน้ำ บางส่วน น็อกน้ำตายคากระชังรวมกว่า 250 กระชัง จากทั้งหมด 500 กระชัง ความเสียหายคิดเป็นเงินนับ 10 ล้านบาท โดยเมื่อวานได้ให้คนงานตักปลาที่ตายออกจากกระชัง นำไปทำลาย หวั่นกระทบน้ำเน่าเสีย
เกษตรกรสงสัยปลาที่เลี้ยงกลายพันธุ์ ปลาหมอคางดำ
ส่วนปัญหาปลาหมอคางดำ บุกไทย แพร่พันธุ์อย่างรวดเร็ว ล่าสุดเกษตรกรผู้เลี้ยงปลา นายอดิศร จันทร์สุขสวัสดิ์ พื้นที่อำเภอคลองด่าน จังหวัดสมุทรปราการ ได้จับปลาที่เลี้ยงในบ่อมาดู พบจำนวนไม่น้อย มีลักษณะต่างจากปลานิลเดิมที่เคยเลี้ยง
โดยนำปลาต่างชนิด ซึ่งมีปลากะพง ปลานิล ปลาหมอคางดำ ปลาซักเกอร์ มาวางเปรียบเทียบดู ครีบ สีเกล็ด ก็สงสัยบางตัวน่าจะกลายพันธุ์หรือไม่ ลำตัวอ้วนกลมคล้ายปลานิล แต่ที่คาง มีสีดำ คล้ายปลาหมอคางดำ เกษตรกรที่พบตั้งชื่อรอแล้วว่า "ปลานิลคางดำ" ตอนนี้ในบ่อเลี้ยงเพิ่งพบปลาลักษณะนี้เยอะมาก ถ้ากลายพันธุ์จริง ๆ จะส่งผลกระทบเพิ่มขึ้นกว่านี้ อยากให้ผู้เกี่ยวข้องลงมาตรวจสอบหาวิธีเร่งจัดการ
เรื่องนี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เตรียมออกมาตรการ ใช้งบ 450 ล้านบาท แก้ปัญหานี้ จากที่ปล่อย ปลากะพง ปลานักล่า ลดปริมาณปลาหมอคางดำ ให้ได้ภายในปีนี้ถึงกลางปีหน้า เฝ้าระวังพื้นที่พบแพร่พันธุ์ ใช้นวัตกรรมวิจัยทำให้ปลาเป็นหมัน ศึกษาแหล่งน้ำว่ามีสัตว์ประเภทใดอาศัยอยู่ เพื่อให้กรมประมงเตรียมเพาะพันธุ์ คืนระบบนิเวศน์ที่อุดมสมบูรณ์ และฟื้นฟูระบบนิเวศ เปิดโอกาสให้ชาวประมง ได้กลับไปใช้วิถีชีวิตแบบเดิม ก่อนที่จะมีการแพร่พันธุ์ปลาหมอคางดำ