นักวิชาการประมง ม.เกษตรฯ ยัน ไม่มีปลานิลคางดำ

View icon 93
วันที่ 1 ส.ค. 2567 | 11.25 น.
ห้องข่าวภาคเที่ยง
แชร์
ห้องข่าวภาคเที่ยง - หลังจากที่เมื่อวานนี้ เถียงกันวุ่นว่าเจอปลานิลคางดำในบ่อเลี้ยงกุ้ง ของชาวบ้าน จังหวัดสมุทรปราการ นักวิชาการ ม.เกษตรฯ สรุปให้แล้ว ว่าเป็นปลาอะไร

นักวิชาการประมง ม.เกษตรฯ ยัน ไม่มีปลานิลคางดำ
ทีมข่าว 7HD ได้นำปลา ที่จับมาจากบ่อเลี้ยงกุ้ง ของ อำเภอบ้านบ่อ จังหวัดสมุทรปราการ ส่งให้คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ตรวจว่าเป็นปลาอะไรกันแน่ ใช่ปลานิลคางดำ ตามที่ชาวบ้านว่ากันหรือไม่

ผู้ช่วยศาสตราจารย์สันติ พ่วงเจริญ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยาประมง ม.เกษตรฯ กล่าวว่า ตัวอย่างปลาที่ได้รับมามี 7 ตัว เป็นปลาหมอคางดำ 6 ตัวอย่าง และปลานิลอีก 1 ตัวอย่าง จากการตรวจสอบดูเบื้องต้น ปลาทั้ง 2 ชนิดแตกต่างกันหลายอย่าง เช่น ขนาดของเกร็ดและจำนวนเกร็ดตามลำตัว ปลานิลมีเกร็ดเล็กและถี่กว่า ส่วนปลาหมอตคางดำมีเกร็ดใหญ่และน้อยกว่า, ขนาดลูกตา, ระยะห่างระหว่างจะงอยปากไปถึงส่วนหัว ก็ต่างกัน

ส่วนถ้าปลาทั้ง 2 ชนิดนี้ผสมพันธุ์กัน แล้วออกลูกมาเป็นปลานิลคางดำได้หรือไม่ อาจารย์บอกว่าในทางทฤษฎีกายวิภาคศาสตร์ ไม่สามารถเกิดเป็นปลาลูกผสมระหว่างปลานิล และปลาหมอเทศได้

ด้านนายอรรถกร ศิริลัทธยากร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ลงพื้นที่บริเวณคลองเกาะโพธิ์ แขวงแสมดำ เขตบางขุนเทียน เพื่อพบปะพี่น้องประชาชน พร้อมมอบนโยบาย ในการกำจัดปลาหมอคางดำ หนึ่งในมาตรการที่สำคัญคือ การช่วยกันจับ การควบคุมปลาหมอคางดำ ในแหล่งน้ำทุกแห่งที่พบการแพร่พันธุ์ ออกจากระบบนิเวศน์ให้ได้มากที่สุด ก่อนจะดำเนินมาตรการอื่น ๆ ที่เหลือ ต่อไป เช่น การปล่อยปลาผู้ล่า และใช้งานวิจัยเข้าช่วยแก้ปัญหา

ส่วนเรื่องต้นตอการแพร่พันธุ์ ของปลาหมอคางดำนั้น ได้ตั้งคณะกรรมการเพื่อตรวจสอบจริงแล้ว หากมีข้อมูลที่แน่ชัดแล้วจะรีบจัดการทันที

ชงรัฐบาล ฟ้องเอกชนทำ ปลาหมอคางดำ ระบาด 
ด้านคณะอนุกรรมาธิการพิจารณาศึกษาสาเหตุและแนวทาง แก้ไขปัญหา รวมถึงผลกระทบจากการนำเข้าปลาหมอคางดำ เพื่อการวิจัยและพัฒนาสายพันธุ์ วันนี้เชิญ หน่วยงานด้านกฎหมายเข้าหารือ เพื่อแนวทางฟ้อง เอกชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ผู้ก่อให้เกิดผลกระทบ กับ สิ่งแวดล้อมและเกษตรกร เบื้องต้นมี ผู้แทนฝ่ายกฎหมายด้านสิ่งแวดล้อม สำนักงานอัยการสูงสุด เข้าให้ข้อมูล โดยคาดว่าวันนี้จะได้ข้อมูลเพียงพอ ที่จะส่งให้หน่วยงานของรัฐไปฟ้องเอาผิดเอกชน ที่ทำให้ปลาหมอคางดำแพร่ระบาด ส่วนอาจารย์วิษณุ เครืองาม ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี, เลขาคณะกรรมการกฤษฎีกา, ผู้อำนวยการกองกฎหมายกรมประมง ไม่ได้มาตามคำเชิญ

สภาทนายความฯ ฟ้อง เอกชน-กรมประมง 16 ส.ค.นี้ 
เช่นเดียวกับ คณะกรรมการสิ่งแวดล้อม สภาทนายความ และ คณะทำงานสำนักงานคดีปกครอง เตรียมยื่นฟ้องคดีแพ่งกับบริษัทเอกชน และคดีปกครอง กับ กรมประมง ในวันที่ 16 สิงหาคมนี้ โดยหลักฐานสำคัญ คือ ข้อมูลงานวิจัย 2 ฉบับ ของกรมประมง ที่รายงานผลการศึกษา จุดที่พบการระบาดของปลาหมอคางดำ เมื่อปี 2554 และดีเอ็นเอของปลาหมอคางดำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง