CPF ชี้แจง กมธ. ยืนยันไม่ใช่ต้นตอแพร่ระบาดปลาหมอคางดำ ซีพีเอฟนำเข้า 2 พันตัว แต่มีข้อมูลส่งออกปลาหมอคางดำกว่า 3 แสนตัว คิดเป็น 150 เท่า น่าจะมีการพิจารณาว่าการแพร่กระจายเกิดจากอะไรกันแน่ มั่นใจไม่ได้เกิดจากบริษัท
วันนี้ (1 ส.ค.67) นายประสิทธิ์ บุญดวงประเสริฐ ประธานคณะผู้บริหาร บมจ.เจริญโภคภัณฑ์อาหาร (CPF) ได้เข้าชี้แจงต่อคณะกรรมาธิการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม(กมธ.อว.) เรื่องการแพร่ระบาดปลาหมอคางดำ โดยให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชน ว่า วันนี้ชี้แจงตามที่เคยบอกไปแล้ว ไม่มีอะไรเพิ่มเติม ส่วนโครงการช่วยเหลือ ก็เป็นไปตามโครงการที่กำลังทำอยู่ ซึ่งอยู่ระหว่างการดำเนินการ โดยมาชี้แจงเรื่อง 5 โครงการ และมีอีก 2 สถาบันที่อยากเข้ามามีส่วนร่วม ก็ได้พูดกับคณะกรรมาธิการว่า สถาบันจุฬาลงกรณ์ และมหาวิทยาลัยแม่โจ้ ที่อยากเข้ามาร่วมโครงการ แต่โครงการทั้งหมดเป็นโครงการที่สนับสนุนมาตรการของรัฐบาล ซึ่งคิดว่าควรมีส่วนช่วยเมื่อมีกระแสเกิดขึ้น
นายประสิทธิ์ กล่าวต่อว่า ทางบริษัทตั้งเป้าหมายไว้ว่าจะช่วยดึงปลาออกจากระบบให้เร็วที่สุด 2 ล้านกิโลกรัม สนับสนุนปลา 2 แสนตัว เพื่อช่วยกันกำจัดให้เร็วขึ้น รวมถึงเรื่องย่อยอื่น ๆ และผลงานวิจัยที่สามารถช่วยได้มากน้อยขนาดไหน แล้วเรื่องทำอาหารน่าจะเร็ว
ส่วนการเปิดเผยภาพหลักฐานนั้น นายประสิทธิ์ ระบุว่า อาจพูดมากไม่ได้ เพราะบางภาพที่ออกมาก็ไม่ถูกต้อง แต่ยืนยันว่าได้ส่งซากให้กรมประมงไปแล้ว และได้ชี้แจงเพียงพอแล้ว ย้ำว่าทำตามกระบวนการทุกอย่างส่วนจะแถลงเพิ่มเติมหรือไม่ อยู่ระหว่างการพิจารณา
นายประสิทธิ์ กล่าวต่อว่า ซีพีเอฟนำปลาหมอคางดำเข้ามา 2,000 ตัว แต่มีข้อมูลเกี่ยวกับการส่งออกปลาหมอคางดำกว่า 300,000 ตัว ซึ่งคิดเป็น 150 เท่า จึงน่าจะมีการพิจารณาว่าการแพร่กระจายเกิดจากอะไรกันแน่ เชื่อมั่นว่า ไม่ได้เกิดจากทางบริษัท และฝากผู้สื่อข่าวพิจารณาเพิ่มเติมว่ามาจากไหน แต่เราคงแสดงความคิดเห็นมากไม่ได้
ที่ผ่านมา มีการส่งออกปลาหมอคางดำจาก 11 บริษัท ไป 17 ประเทศ เห็นข้อมูลจากกรมประมง และข่าวต่าง ๆ ที่มีการสืบค้นเพิ่มเติม ยังยืนยันว่า กระบวนการจัดการของบริษัท อยู่ในมาตรฐานสูง ปลาที่นำเข้ามา 2,000 ตัว เมื่อมาถึงสนามบินเหลืออยู่ 600 ตัว และสภาพก็ไม่แข็งแรง
นายประสิทธิ์ กล่าวถึงเหตุผลการนำเข้าปลาหมอคางดำว่า นำเข้าเพื่อการพัฒนาสายพันธุ์ปลา ซึ่งรายละเอียดต้องให้นักพัฒนาสายพันธุ์ปลาเป็นคนตอบ ตอนนั้นนำเข้ามาเกิดจากการประชุมการพัฒนาสายพันธุ์ที่มหาลัยเกษตรศาสตร์ ก่อนปี 2549 เกิดเป็นไอเดียในการนำเข้ามา ก็นำมาทดลอง และกระบวนการยุ่งยากกว่าจะนำเข้ามาได้อย่างถูกกฎหมาย เนื่องจากใช้เวลากว่าจะนำเข้า ก็จนถึงปี 2553 เมื่อปลาไม่สมบูรณ์ ก็ปิดโครงการ ในระยะเวลาทั้งหมด 16 วัน และฝังซากปลาภายในฟาร์ม