สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจ ดังนี้

View icon 219
วันที่ 1 ส.ค. 2567 | 20.07 น.
ข่าวในพระราชสำนัก
แชร์
เวลา 09.03 น. วันนี้ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี อุปนายิกาผู้อำนวยการสภากาชาดไทย นายกสภาสถาบันการพยาบาลศรีสวรินทิรา สภากาชาดไทย เสด็จพระราชดำเนินไปยังชั้น 8 อาคารสิรินธรานุสรณ์ 60 พรรษา ทรงเป็นประธานการประชุมสภาสถาบันการพยาบาลศรีสวรินทิรา สภากาชาดไทย ครั้งที่ 52 โดยมีระเบียบวาระต่าง ๆ อาทิ การขออนุมัติกรอบทุนการลาศึกษาต่อในระดับปริญญาเอกด้านการพยาบาลสาธารณภัยของบุคลากรสถาบันสายวิชาการ, การอนุมัติผลการพิจารณาตำแหน่งทางวิชาการ ระดับผู้ช่วยศาสตราจารย์ สาขาพยาบาลศาสตร์ การขออนุมัติการสำเร็จการศึกษาของผู้เข้าศึกษาหลักสูตรประกาศนียบัตรผู้ช่วยพยาบาล ประจำปีการศึกษา 2566, การแต่งตั้งคณะกรรมการชุดต่าง ๆ ที่มีกรรมการสภาสถาบันเป็นองค์ประกอบ ได้แก่ คณะกรรมการบริหารงานบุคคล, คณะกรรมการการเงิน, คณะกรรมการจัดการทรัพย์สิน, คณะกรรมการตรวจสอบ, คณะกรรมการติดตาม ตรวจสอบและประเมินผลการปฏิบัติงานสถาบัน, คณะกรรมการพิจารณาตำแหน่งทางวิชาการ, คณะกรรมการธรรมาภิบาลและจริยธรรม และคณะกรรมการบริหารความเสี่ยง

เวลา 14.18 น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ไปยังศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี จังหวัดนนทบุรี โอกาสนี้ พระราชทานรางวัลแก่ผู้ชนะเลิศการประกวดผ้าไหมตรานกยูงพระราชทานและผลิตภัณฑ์หม่อนไหม ระดับประเทศ ประจำปี 2567 จำนวน 27 ประเภท รวม 33 ราย

จากนั้น ทรงเปิดงาน "ตรานกยูงพระราชทาน สืบสานตำนานไหมไทย" ครั้งที่ 19 ประจำปี 2567 ซึ่งกรมหม่อนไหม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จัดขึ้นจนถึงวันที่ 4 สิงหาคมนี้ ภายใต้แนวคิด "มหัศจรรย์หม่อนไหม ภูมิปัญญาผ้าไทย เทิดไท้องค์ราชัน" เพื่อเฉลิมพระเกียรติ และน้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ที่ทรงสืบสานและทรงให้ความสำคัญกับผ้าไหมไทย และได้พระราชทานสัญลักษณ์นกยูงไทย ให้เป็นเครื่องหมายรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์ผ้าไหมไทยในประเทศ ที่เน้นแหล่งที่มาของวัตถุดิบ กระบวนการผลิตที่ต้องผลิตในประเทศไทยเพียงแห่งเดียว โดยมีเครื่องหมายรับรองตรานกยูงพระราชทาน 4 ชนิด ได้แก่ นกยูงสีทอง นกยูงสีเงิน นกยูงสีน้ำเงิน และนกยูงสีเขียว และเพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 ภายในงานมีกิจกรรม อาทิ นิทรรศการเฉลิมพระเกียรติฯ, นิทรรศการตรานกยูงพระราชทาน, การประกวดเส้นไหม ผ้าไหมตรานกยูงพระราชทาน และผลิตภัณฑ์หม่อนไหม ที่ได้รับรางวัลพระราชทาน ประจำปี 2567, นิทรรศการ 72 หมู่บ้าน รวมใจปลูกหม่อนน้อมถวาย 72 พรรษา ทศมินทรราชา สืบสาน รักษา ต่อยอด สู่ 12 พรรณพฤกษาไทย สร้างสีสันบนผ้าไหม 21 ลายทรงเลือก, "เส้นทางอาชีพหม่อนไหม" ได้แก่ อาชีพปลูกหม่อนเลี้ยงไหม ธุรกิจขายชาใบหม่อน ผลิตภัณฑ์ความงาม และเฟอร์นิเจอร์จากไหม, ผลงานบูรณาการที่กรมหม่อนไหมร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ อาทิ นวัตกรรมการผลิตผ้าไหมเส้นไหมด้วยกราฟีน ที่เพิ่มคุณสมบัติพิเศษให้เส้นไหมและผ้าไหม นำมาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ เช่น เครื่องนุ่งห่ม มีคุณสมบัติพิเศษช่วยให้เย็นสบายเมื่ออากาศร้อน และช่วยให้อบอุ่นเมื่ออากาศเย็น, การนำผ้าไหมมาพัฒนาเป็นวัสดุทางการแพทย์ช่วยผู้ป่วยที่ผ่าตัดมะเร็งเต้านม เพื่อใช้ฟื้นฟูเนื้อเยื่อเต้านมที่เกิดจากการผ่าตัด, การแสดงผลงาน "จากนักโทษ สู่นักทอ" : ขยายผลต่อยอดโครงการพัฒนาผู้ต้องขังด้านการทอผ้าไหม สู่การประกอบอาชีพช่างทอผ้าไหมเมื่อพ้นโทษ สำหรับผ้าไหมที่นำมาจำหน่าย มีหลากหลายประเภท เช่น ผ้าไหมตรานกยูงพระราชทาน ผ้าไหมอัตลักษณ์จากทั่วทุกภาคของประเทศ สินค้าแปรรูปต่าง ๆ จากหม่อนและไหม เช่น อาหาร ขนม เครื่องดื่ม เครื่องสำอาง เครื่องประดับ และของแต่งบ้าน

เวลา 17.53 น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ เสด็จออกแทนพระองค์ ณ วังสระปทุม พระราชทานพระราชวโรกาสให้ นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ประธานกรรมการแผนกวิศวกรรมศาสตร์ มูลนิธิอานันทมหิดล พร้อมด้วยกรรมการแผนกวิศวกรรมศาสตร์ นำผู้ได้รับพระราชทานทุนมูลนิธิอานันทมหิดล แผนกวิศวกรรมศาสตร์ เฝ้าทูลละอองพระบาท กราบบังคมทูลรายงานผลการศึกษา และกราบถวายบังคมลาไปศึกษาต่อ ดังนี้

- นายชญานนท์ งามเบญจวงศ์ ผู้ได้รับพระราชทานทุนมูลนิธิอานันทมหิดล ประจำปี 2554 สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอก สาขาวิศวกรรมชีวเวศ (Bioengineering) จากมหาวิทยาลัยวอชิงตัน (University of Washington) สหรัฐอเมริกา เฝ้าทูลละอองพระบาท กราบบังคมทูลรายงานผลการศึกษา

- นายตรัณ อนุสรณ์ ผู้ได้รับพระราชทานทุนมูลนิธิอานันทมหิดล ประจำปี 2566 กราบถวายบังคมลาไปศึกษาต่อระดับปริญญาโทและปริญญาเอก สาขาวิศวกรรมไฟฟ้าและคอมพิวเตอร์ (Electrical and Computer Engineering) ณ มหาวิทยาลัยเท็กซัส ออสติน (The University of Texas at Austin) สหรัฐอเมริกา

ข่าวอื่นในหมวด

ข่าวที่เกี่ยวข้อง