อนุทิน ยัน เก้าอี้รองประธานสภาฯ เป็นไปตามกติกา ไม่มีจอง-ต่อรอง เห็นด้วยแก้กฎหมายยุบพรรคการเมือง ควรเชือดรายบุคคล งง! งูเห่า 20-30 ล้านบาท ถามกลับ งูเห่าหนังเลี่ยมทองหรือ
วันนี้ (8 ส.ค.67) นายอนุทิน ชาญวีรกุล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย กล่าวถึงการเลือกรองประธานสภาผู้แทนราษฎร แทนนายปดิพัทธ์ สันติภาดา ที่พ้นจากตำแหน่ง ว่า ได้รับการประสานงานจากรัฐบาลแล้ว ขออย่าพูดว่าจองตำแหน่งให้กับพรรคภูมิใจไทย แต่เป็นไปตามกติกาที่วางไว้ การอยู่ร่วมกันมันมีกติกาอยู่ ใครที่แหกกติกาก็อยู่ร่วมกันไม่ได้ ส่วนใหญ่ไม่มีหรอก ยิ่งอยู่ยิ่งแน่น ความสัมพันธ์ระหว่างพรรคร่วมรัฐบาลก็แน่นแฟ้น แต่วินาทีนี้ยังไม่ได้เตรียมใครไว้เพื่อลงชิงตำแหน่งรองประธานสภาฯ
เมื่อถามว่า หากเป็นโควตาพรรคภูมิใจไทยก็พร้อมที่จะเสนอใช่หรือไม่นั้น นายอนุทิน กล่าวว่า ก็ต้องมีการประชุมก่อน และขอหลีกเลี่ยงการใช้คำว่าโควตา ต่อรอง และคำว่าไปขอ คงไม่มีหรอก เพราะเป็นไปตามกติกา
นายอนุทิน ยังกล่าวถึงกรณีที่ นายจิรัฏฐ์ ทองสุวรรณ์ สส.ฉะเชิงเทรา อดีตพรรคก้าวไกล อ้างถึงการซื้องูเห่า 20-30 ล้าน ซึ่งในวงการเมืองมีการให้ราคาสูงขนาดนี้จริงหรือไม่ว่า “พูดไปเรื่อย” คำว่างูเห่าคืออยู่เฉย ๆ ไม่มีเหตุการณ์ แต่ไปเชิญชวนมาเข้าพรรคก็เรียกว่างูเห่า พรรคภูมิใจไทยไม่มี พร้อมย้อนถามผู้สื่อข่าวว่า งูเห่าหนังเลี่ยมทองหรือตั้ง 20-30 ล้านบาท ตนไม่รู้เหมือนกัน เพราะไม่เคยทำ เลยไม่รู้ ไม่คิดจะทำ
เมื่อถามว่า ขณะนี้พรรคภูมิใจไทยยังมีความจำเป็นต้องการ สส. เพิ่มหรือไม่ นายอนุทิน ชะงัก และทวนคำถามผู้สื่อข่าวอีกครั้ง พร้อมกล่าวว่า เรื่องนี้ต้องมีมารยาท พื้นที่ที่พรรคไม่เคยมี สส.มาแต่ดั้งเดิม ก็ต้องมีการแข่งขันกันระหว่างเจ้าของพื้นที่ หรือฝ่ายรัฐบาลกับฝ่ายค้าน ดังนั้น เมื่อไม่ใช่พื้นที่ของพรรคภูมิใจไทยก็ให้พรรคร่วมรัฐบาลไปสู้
ส่วนการเลือกตั้งซ่อม สส.เขตหนึ่งพิษณุโลก นายอนุทิน ยืนยันไม่ส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งในเขตนี้ สู้ แต่ไม่ส่ง พร้อมหลีกทางให้ เพราะเป็นกติกามารยาท และยังพูดถึงการทำงานร่วมกันของพรรคร่วมรัฐบาลว่า เข้มแข็งขึ้นเรื่อย ๆ อยู่ร่วมกันมา 1 ปีแล้ว การให้เกียรติซึ่งกันและกัน ความเชื่อมั่น ความเชื่อถือ ก็เพิ่มขึ้นทุกวัน
ส่วนกรณีที่พรรคฝ่ายค้านเตรียมจะยื่นแก้กฎหมายการยุบพรรค นายอนุทิน ระบุว่า ในฐานะนักการเมือง หัวหน้าพรรคการเมือง ก็เห็นด้วย เพราะพรรคการเมืองเป็นของประชาชน ไม่ได้เป็นของกรรมการบริหารพรรค หากกรรมการบริหารคนไหนทำผิด ก็ให้ลงโทษเป็นรายคน ไม่ใช่ยุบทั้งพรรค ซึ่งส่วนตัวเคยถูกตัดสิทธิ์ทางการเมืองมาก่อน เมื่ออยู่บ้าน 111 (พรรคไทยรักไทย) และ บ้าน 119 (พรรคพลังประชาชน)