นายกฯ ปลื้ม ภูเก็ตฝรั่งปิดซอยเรียนมวยไทย

นายกฯ ปลื้ม ภูเก็ตฝรั่งปิดซอยเรียนมวยไทย

View icon 80
วันที่ 11 ส.ค. 2567 | 12.04 น.
ข่าวออนไลน์7HD
แชร์
นายกฯ ปลื้มภูเก็ตฝรั่งปิดซอยเรียนต่อยมวยไทย คอร์สเริ่มต้น 15 วัน ไปจนถึงหลายเดือน มองเห็นโอกาสขยายเป็นธุรกิจท่องเที่ยว กีฬา แฟชัน อยากให้ทั้ง ฝรั่ง จีน แขก ไทย มาปิดซอยเรียนต่อยมวยที่ประเทศไทย

วันนี้ (11 ส.ค.67) นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี โพสต์ภาพและข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว แจ้งถึงแนวโน้มที่ดีของกีฬามวยไทย โดยระบุว่า เพื่อนคนภูเก็ตบอกและให้ดูรูปค่ายมวยไทย ฟังแล้วน่าสนใจ จุดประกายต่อยอดเรื่องซอฟต์พาวเวอร์ การท่องเที่ยว และธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับวัฒนธรรมและธุรกิจเกี่ยวกับ martial arts ได้มากเลย ในภูเก็ตนี่มีค่ายมวยกว่า 300 แห่ง ทั้งค่ายใหญ่ค่ายเล็ก มีรูปแบบการสอนหลากหลาย อย่างในรูปนี่คือ “ค่ายซิมบี้มวยไทย” ที่หาดในหาน เป็นค่ายมวยขนาดกลาง มีครูประมาณ 30 คน

ทำให้รู้ว่าที่ภูเก็ตมี Muay Thai Village ซึ่งตั้งอยู่ใน “ซอยตาเอียด” ตำบลฉลอง ในซอยนั้นมีค่ายมวยหลายสิบค่าย และค่ายที่ใหญ่สุดคือค่ายมวยไทเกอร์ที่โด่งดังไปทั่วโลก ไทเกอร์มวยไทยนี่ มีครูกว่า  100 คน มีนักเรียนลงทะเบียนเรียนตลอด 1 ปีที่ผ่านมากว่า 80,000 คน  มีเวที 12 เวที สำหรับจัดการแข่งขัน ค่ายมวย 1 ค่ายนี้จะนำมาสู่กิจกรรมทางเศรษฐกิจได้มากขนาดไหน

เริ่มต้นจาก นักเรียนมวยเหล่านี้ มาเรียนชกมวยคอร์สเริ่มต้น ก็ 15 วันแล้ว และมีคอร์ส 1 เดือน จนไปถึงหลายเดือน บางทีก็มาเรียนกันทั้งครอบครัว รวมเด็กเล็ก ๆ ก็มาเรียนกับพ่อแม่ด้วย และนี่ทำให้เราได้นักท่องเที่ยวแบบ “พำนักระยะยาว” ซึ่งตอบโจทย์เรื่องการสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวที่คุ้มค่ากับโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ ที่เราต้องลงทุนไปกับการท่องที่ยว

“เมื่อพำนักระยะยาวแล้วก็มีธุรกิจตามมาหลายอย่าง แค่ใน “ซอยตาเอียด” ที่เดิมเป็นพื้นที่สวนยาง ชาวบ้านก็ปรับเปลี่ยนบ้านตัวเองเป็นที่พักอาศัย มีร้านอาหาร ร้านขายของ ร้านซักผ้า เกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจในระดับรากฝอย กระจายรายได้ลงสู่ชุมชน”

สินค้าที่เกี่ยวข้องกับค่ายมวยก็เป็นที่นิยม เช่น กางเกงมวยจากค่ายดัง ๆ อย่างไทเกอร์มวยไทย ใส่กันไปทั่ว เป็นของขายที่มีราคา กางเกง เสื้อชื่อค่ายมวยประเจียดคล้องคอ ประเจียดรัดแขน  และมงคประเจียด (ที่คาดหัว) สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นสินค้าที่ผลิตในประเทศ ทำเงินให้กับผู้ผลิตและผู้ขายอย่างมหาศาล

เมื่อนักเรียนมวยเรียนจบแล้วก็มี “เวที“ ให้ขึ้นชก ขายบัตรเข้าชมได้ และเมื่อนักเรียนได้แต่งตัว ไหว้ครูขึ้นชกเหมือนเป็นมืออาชีพมีรูปลงโซเชียลมีเดียก็ทำให้คนอยากมาเรียนกันอีก

นายเศรษฐา ระบุอีกว่า สุดท้ายที่น่ายินดี คือ “ครูมวย” คือ นักมวยอาชีพที่เลิกชกแล้ว พวกเขาได้ทำหน้านี้สืบสานศิลปะการต่อสู้ของไทยอย่างมีศักดิ์ศรีและมีรายได้  นักมวยที่มีดีกรีได้ครองเข็มขัดแชมป์จากสนามมวยลุมพินี หรือสนามมวยราชดำเนิน ก็สามารถหารายได้ได้ถึง ชม. ละ 2,000 บาท เท่ากับว่า อายุงานของนักมวยอาชีพไม่ได้หยุดอยู่แค่การเป็นนักมวยแต่คือการเป็นเทรนเนอร์มวยไทยที่ยิ่งมากประสบการณ์ค่าตัวยิ่งสูงยิ่งเป็นที่ตัองการของตลาด

มวยไทยอยู่ใกล้ตัวคนไทยและเราชินที่จะเห็นมวยไทยเป็นแค่กีฬาขึ้นชกบนเวที แต่การเติบโตของค่ายมวยอย่างไทเกอร์ที่ตอนนี้เปิดที่สิงค์โปร์ ที่จีน หรือค่ายซิมบี้ ทำให้เรามองมวยไทยในฐานะที่เป็นหนึ่งใน mixed martial arts และมีโอกาสขยายเป็นธุรกิจท่องเที่ยว กีฬา แฟชั่น ไปจนถึงเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาวิทยาศาสตร์การกีฬาในประเทศไทย ทั้งหมดคือห่วงโซ่ทางธุรกิจที่จะสร้างอาชีพสร้างรายได้ให้กับผู้คนได้กว้างขวาง 

“ผมอยากให้ทั้ง ฝรั่ง จีน แขก ไทย มาปิดซอยเรียนต่อยมวยที่ประเทศไทยครับ” นายกฯเศรษฐา ระบุทิ้งท้าย