สดร. ชวนชม “ฝนดาวตกเพอร์เซอิดส์” คืนวันแม่ ตกสูงสุด 100 ดวงต่อชั่วโมง

สดร. ชวนชม “ฝนดาวตกเพอร์เซอิดส์” คืนวันแม่ ตกสูงสุด 100 ดวงต่อชั่วโมง

View icon 760
วันที่ 11 ส.ค. 2567 | 19.10 น.
ข่าวออนไลน์7HD
แชร์
ลุ้นชม "ฝนดาวตกเพอร์เซอิดส์" คืนวันแม่ 12 ส.ค.-เช้ามืดวันที่ 13 ส.ค.67 มองเห็นด้วยตาเปล่าทุกภูมิภาคทั่วไทย ตกสูงสุด 100 ดวงต่อชั่วโมง

วันนี้ (11 ส.ค.67) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เพจ NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ ได้โพสต์ข้อความระบุว่า คืนวันแม่ 12 ส.ค. ถึงรุ่งเช้า 13 ส.ค.67 มีปรากฏการณ์ “ฝนดาวตกเพอร์เซอิดส์” หรือ “ฝนดาวตกวันแม่” อัตราการตกสูงสุดประมาณ 100 ดวงต่อชั่วโมง แนะชมหลังเที่ยงคืนเป็นต้นไป ไร้แสงจันทร์รบกวน หากฟ้าใสไร้ฝน ชมด้วยตาเปล่าได้ทุกภูมิภาคทั่วไทย

ฝนดาวตกเพอร์เซอิดส์ (Perseids Meteor Shower) หรือที่มักเรียกกันว่า “ฝนดาวตกวันแม่” มีศูนย์กลางการกระจายอยู่ในกลุ่มดาวเพอร์เซอุส บริเวณทิศตะวันออกเฉียงเหนือ สำหรับปีนี้คาดว่าจะมีอัตราการตกเฉลี่ยสูงสุดประมาณ 100 ดวงต่อชั่วโมง  สังเกตได้ตั้งแต่เวลาประมาณ 23:00 น. ของคืนวันที่ 12 ส.ค.67 จนถึงรุ่งเช้าของวันที่ 13 ส.ค.67

คืนดังกล่าวตรงกับช่วงดวงจันทร์กึ่งข้างขึ้น ในช่วงค่ำจึงจะยังมีแสงจันทร์รบกวน เวลาที่เหมาะสมสำหรับการสังเกตการณ์จึงเป็นช่วงหลังเที่ยงคืนเป็นต้นไป ซึ่งเป็นช่วงที่ดวงจันทร์ตกลับขอบฟ้าไปแล้ว แนะนำชมในบริเวณที่ห่างจากตัวเมือง หรือบริเวณที่ไม่มีแสงรบกวน สำหรับวิธีการสังเกตฝนดาวตกที่ดีที่สุด คือ นอนชมด้วยตาเปล่า ตามทิศทางการกระจายตัวของฝนดาวตก หากสภาพอากาศดี ฟ้าใสไร้ฝน สามารถชมความสวยงามของฝนดาวตกเพอร์เซอิดส์ได้ทั่วประเทศ

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ประเทศไทยกำลังอยู่ในช่วงฤดูฝน และมีฝนตกหนักในหลายพื้นที่ หากพลาดชมปรากฏการณ์ครั้งนี้ยังสามารถติดตามชมฝนดาวตกอื่น ๆ ได้ เนื่องจากเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นประจำทุกปี

ฝนดาวตกเพอร์เซอิดส์ เป็นฝนดาวตกที่มีความสว่างเป็นอันดับสองรองจากฝนดาวตกลีโอนิดส์ สามารถสังเกตเห็นได้ในช่วงระหว่างวันที่ 17 ก.ค. - 24 ส.ค.ของทุกปี และมักมีอัตราการตกสูงสุดในช่วงวันที่ 12 - 13 ส.ค. มีสีสันสวยงาม เกิดจากเศษฝุ่นละอองที่ดาวหางสวิฟท์-ทัตเทิล (109P/Swift-Tuttle) เหลือทิ้งไว้ในวงโคจร เมื่อโลกโคจรตัดผ่านเข้าไปในบริเวณที่มีเศษฝุ่นดังกล่าว จะดึงดูดเศษฝุ่นเหล่านี้เข้ามาในชั้นบรรยากาศ เกิดการลุกไหม้เป็นแสงสว่างวาบบนท้องฟ้า เป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติ ไม่มีผลกระทบต่อโลก

ข่าวที่เกี่ยวข้อง