หมอยง ลำดับเหตุฝีดาษวานร เริ่มต้นจากปี 46 สหรัฐฯ นำเข้าหนูจากแอฟริกา ระบาดแต่ควบคุมได้ กระทั่งหลังเทศกาลไพร์ด์เฟสติวัล ปี 65 กระจายไปทั่วโลก ป่วยกว่าแสนคน และปีนี้น่าห่วง Clade 1b การติดต่อไม่เหมือนเดิม และมีความรุนแรงมากกว่า
ฝีดาษวานร MPOX วันนี้ (21 ส.ค.67) ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทย์ศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ข้อมูลผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวถึงการระบาดของโรคฝีดาษวานร Mpox ว่า ในราวปี 2546 เกิดการระบาดในอเมริกา เป็นการนำเข้าหนูจากแอฟริกา เพื่อเป็นสัตว์เลี้ยง คือ Giant Gambian rat โดยหนูที่นำเข้ามีเชื้อ Mpox ได้แพร่กระจายเข้าสู่ แพรี่ด็อก เป็นสัตว์ตระกูลฟันแทะ และหลังจากนั้นก็ระบาดเข้าสู่คน และมีการติดต่อระหว่างคนสู่คน จึงเกิดการระบาดขึ้น การระบาดสามารถควบคุมได้
หลังจากนั้นก็มีพบในคน ประปราย ส่วนใหญ่ถ้าเป็นการระบาดเป็นกลุ่มก้อนจะพบในแอฟริกา นอกแอฟริกา ส่วนใหญ่จะพบเป็นราย ๆ และมีการติดโรคมาจากสัตว์ในตระกูลฟันแทะ หรือตระกูลหนู
ในปี 2565 พบมีการระบาดออกนอกทวีปแอฟริกา โดยเริ่มจากสเปน หลังเทศกาล prime festival และได้กระจายไปทั่วโลกร่วม 100 ประเทศ มีผู้ป่วยมากกว่า 1 แสนคน ส่วนใหญ่ร้อยละ 97-98 จะเป็นในผู้ใหญ่ เพศชาย อายุตั้งแต่วัยหนุ่มถึงวัยกลางคน เป็นการสัมผัสกันอย่างใกล้ชิด หรือมีเพศสัมพันธ์ โดยเฉพาะในกลุ่มของชายรักชาย โรคนี้ส่วนใหญ่อาการไม่รุนแรง
หมอยง ระบุด้วยว่า นับตั้งแต่ที่มีการระบาดนอกแอฟริกา มากกว่า 2 ปีที่ผ่านมา จนถึงปัจจุบัน มีผู้ป่วยร่วมแสนคน และมีการเสียชีวิตประมาณ 200 คน ดังนั้นในภาพรวมโรคนี้ไม่รุนแรง มีอัตราการเสียชีวิตที่ต่ำ หรือประมาณ 0.2% หรือ 1 ใน 500 คน ไวรัสพบว่าเป็น กลุ่ม 2 Clade 2b
สำหรับประเทศไทยนับตั้งแต่เริ่มมีการระบาดจนถึงปัจจุบัน มีผู้ป่วยมากกว่า 800 คน เป็น เพศชาย 97.5% และส่วนใหญ่ไม่รุนแรง
ปีนี้ 2567 เกิดการระบาดใหญ่ ในทวีปแอฟริกา เช่น คองโก บุรุนดี เคนย่า รวันดา มีผู้ป่วยมากกว่า 15,000 คน และมีการเสียชีวิตมากถึงร้อยละ 3.4 (537 คน จาก 15,600 คน) มีการเสียชีวิตในเด็ก และผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง ตรวจไวรัสพบว่าเป็น กลุ่ม 1 Clade 1b ซึ่งแตกต่างกับการระบาดก่อนหน้านี้ในประเทศนอกแอฟริกา จึงทำให้เกิดความกังวลว่าโรคนี้จะระบาดออกไปทั่วโลก การติดต่อของโรคจะไม่เหมือนกับช่วงที่ผ่านมา ที่ระบาดนอกแอฟริกา และพบได้ทั้งเพศชายและหญิง มีความรุนแรงมากกว่ามาก