เช้านี้ที่หมอชิต - ไทยพบผู้ป่วยต้องสงสัย ติดเชื้อฝีดาษวานร หรือ เอ็มพ็อกซ์ สายพันธุ์เคลด วัน บี (Clade 1 B) คนแรกจากต่างประเทศ เป็นชาวต่างชาติเดินทางมาจากประเทศคองโก
นายแพทย์ธงชัย กีรติหัตถยากร อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ขณะนี้ไทยพบผู้ป่วยต้องสงสัยติดเชื้อฝีดาษวานร สายพันธุ์ เคลด วัน บี ซึ่งเป็นสายพันธุ์ใหม่ที่มีความรุนแรง
โดยผู้ต้องสงสัยเป็นชายชาวยุโรป อายุ 66 ปี เดินทางมาจากทวีปแอฟริกา ประเทศคองโก และมีบ้านพักในประเทศไทย แต่ไปทำงานที่ประเทศแถบแอฟริกา
ซึ่งไทม์ไลน์ชายคนนี้ ตั้งแต่ 14 สิงหาคม กลับเข้าไทยลำพัง จากนั้น 15 สิงหาคม เริ่มมีไข้ และมีตุ่มขึ้นผิวหนัง จึงไปตรวจที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่ง
จากนั้น โรงพยาบาล ก็ตรวจหาเชื้อฝีดาษวานร สายพันธุ์เคลด ทู (Clade 2) แต่ผลเป็นลบ จึงตรวจหาสายพันธุ์เคลด วัน บี แต่ผลไม่ชัดเจน จึงตรวจยืนยันด้วยวิธี RT-PCR อีกครั้ง ซึ่งจะทราบผลแน่ชัด 100% ในวันที่ 23 สิงหาคมนี้
อาการของผู้ป่วยล่าสุดดีขึ้น ไม่รุนแรง และไม่มีอาการแทรกซ้อน ถ้าผลวันที่ 23 ออกมาเป็นเคลด วัน บี จึงจะถือว่าเป็นรายแรกของไทย ตอนนี้จึงยังไม่ใช่ ต้องรอผล และขณะนี้ฝีดาษวานรยังจัดเป็น 1 ใน 57 โรคที่ต้องเฝ้าระวังของไทย
ทีนี้หลายคนอาจกังวล เจอผู้ต้องสงสัยแบบนี้แล้ว จะเป็นอย่างไรต่อ กรมควบคุมโรค ก็ย้ำว่า ไม่ต้องตื่นตระหนกเพราะเฝ้าระวังกลุ่มเสี่ยง 43 คนที่นั่งเครื่องบินมาด้วยกัน รวม 21 วันแล้ว อีกทั้งทั้งหมดก็ไม่จำเป็นต้องกักตัว เพราะโรคนี้ไม่ได้ติดต่อกันง่ายเหมือนกับโรคโควิด-19 แต่ถ้ามีความผิดปกติ เริ่มมีไข้ มีตุ่มหนอง หรือฝื่นขึ้น ขอให้พบแพทย์ทันที
เมื่อถามถึงอัตราการเสียชีวิต 2 สายพันธุ์ มีความแตกต่างกันอย่างไร ? นายแพทย์ธงชัย กล่าวว่า เคลด 1 B มีความรุนแรงมากกว่า อัตราการเสียชีวิต ประมาณ 3-5% ที่องค์การอนามัยโลกเป็นห่วงเพราะพบติดในเด็กด้วย ส่วนเคลด 2 อัตราการเสียปะมาณ 1.3%
ขณะนี้วัคซีนที่ใช้ป้องกันฝีดาษวานร ต้องบอกว่าไม่ได้อยู่ในชุดสิทธิประโยชน์ จึงต้องจ่ายเอง และค่อนข้างมีราคาสูง หากไม่ใช่กลุ่มเสี่ยง ที่ต้องมีการสัมผัสใกล้ชิด ก็ขอให้อย่ากังวล อย่างบุคลากรสาธารณสุขด่านหน้า ขณะนี้ก็ยังไม่ต้องใช้วัคซีน ซึ่งไม่ต้องห่วง กรมควบคุมโรค มีระบบเฝ้าระวังติดตามสถานการณ์เพื่อป้องกันการระบาดของโรค พร้อมทั้งประสานข้อมูลกับนานาประเทศตลอด อีกทั้ง ขณะนี้ อย. ก็ขึ้นทะเบียนชุดตรวจวินิจฉัยการติดเชื้อฝีดาษวานรแล้ว เพื่อรองรับสถานการณ์การแพร่ระบาดที่ขยายตัวขึ้นทั่วโลก โดยจัดทำแนวทางการประเมินด้านคุณภาพ มาตรฐาน และความปลอดภัยของชุดตรวจ ทั้งนี้ เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงการวินิจฉัยโรคได้อย่างทั่วถึงและรวดเร็ว โดยสามารถตรวจสอบผลิตภัณฑ์ได้ทาง https://medical.fda.moph.go.th/