ห้องข่าวภาคเที่ยง - สถานการณ์น้ำในพื้นที่ภาคเหนือ ต้องจับตาพื้นที่จังหวัดพิษณุโลก ที่ชาวบ้านในอำเภอบางระกำ เริ่มเก็บข้าวของกันแล้ว เพราะเป็นพื้นที่รับน้ำต่อ เส้นทางแม่น้ำยม จากจังหวัดสุโขทัย
เสริมคันดิน ป้องกันน้ำท่วมนาข้าว จ.พิษณุโลก
ที่จังหวัดพิษณุโลก สำนักงานชลประทานที่ 3 นำเครื่องจักรกล นำรถขุดไฮดรอลิก จำนวน 4 คัน เร่งเสริมคันกั้นน้ำป้องกันน้ำเอ่อล้นตลิ่ง ตามแนวแม่น้ำยมสายเก่า ในพื้นที่ อำเภอพรหมพิราม จังหวัดพิษณุโลก มีความเสี่ยงน้ำล้นตลิ่ง และได้มีการเสริมคันดิน ป้องกันพื้นที่การเกษตร พื้นที่เพาะปลูกข้าวนาปี ในโครงการส่งน้ำพลายชุมพล ที่ยังไม่ได้เก็บเกี่ยว
ชาวบางระกำ เริ่มเก็บข้าวของเตรียมอพยพ จ.พิษณุโลก
ขณะที่ อำเภอบางระกำ จังหวัดพิษณุโลก ระดับน้ำค่อย ๆ เพิ่มสูงขึ้นชาวบ้านที่พักอาศัยอยู่ริมตลิ่งแม่น้ำยม ชุมชนคุ้มแม่ย่า เตรียมการเก็บข้าวของขึ้นที่สูง เตรียมอพยพ โดยทางเทศบาล กำลังถมดิน สร้างพื้นที่อพยพชั่วคราว เตรียมการรองรับ และช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม
สถานการณ์น้ำท่วมลดลง จ.เชียงราย
ส่วนสถานการณ์อุทกภัยใน จังหวัดเชียงราย หลายพื้นที่ระดับน้ำเริ่มลดระดับลงอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะพื้นที่ลุ่มน้ำอิง ตั้งแต่ อำเภอเทิง อำเภอพญาเม็งราย อำเภอขุนตาล และ อำเภอเชียงของ ระดับน้ำเริ่มลดลงวันละประมาณ 10-15 ซม. อย่างไรก็ตามยังคงต้องเฝ้าระวังมวลน้ำรอบใหม่ที่จะถูกปล่อยมาจากกว๊านพะเยา
ขนย้าย โค กระบือ แพะ หนีน้ำท่วม จ.เชียงราย
ส่วนที่อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย ทหาร และชาวบ้าน ต้องระดมกำลังกัน ใช้เรือเข้าไปขน โค กระบือ และแพะ ออกจากพื้นที่ที่ถูกน้ำท่วม แต่ก็มีบางส่วนหนีน้ำไม่ทัน ถูกน้ำท่วมตาย ในพื้นที่ลุ่มน้ำอิง ในอำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย เป็นพื้นที่ได้รับผลกระทบแม่น้ำโขงขึ้นสูง จนหนุนน้ำอิงให้ไหลเอ่อเข้าท่วมพื้นที่ทางการเกษตรเป็นวงกว้าง
สำหรับสถานการณ์น้ำในแม่น้ำโขง ที่อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย วันนี้ระดับน้ำอยู่ที่ 10.80 เมตร เพิ่มขึ้นจากเมื่อวานนี้ประมาณ 40 เซนติเมตร
ขนย้ายหมู หนีน้ำไหลบ่าเข้าท่วม จ.พะเยา
ส่วนที่จังหวัดพะเยา น้ำล้นสปิลเวย์กว๊านพะเยา ไหลบ่าเข้าท่วม ส่งผลกระทบต่อพื้นที่การเกษตรและปศุสัตว์ ในพื้นที่ตำบลห้วยแก้ว อำเภอภูกามยาว จังหวัดพะเยา ล่าสุด เกษตรกรเร่งเคลื่อนย้ายหมูกันจ้าละหวั่น ผู้เลี้ยงหมู ฟาร์มหมู และเจ้าหน้าที่กู้ภัยกลางจังหวัดพะเยา ต้องช่วยกันขนย้ายหมู หนีน้ำท่วม กันอย่างทุลักทุเล บางตัวก็จมน้ำตาย ตอนนี้หมูที่ช่วยเหลือได้รอดมี กว่า 400 ตัว รวมทั้งสัตว์เลี้ยงอื่น ๆ ที่ได้รับการช่วยเหลือ หนีน้ำท่วมที่ไหลบ่าอย่างรวดเร็ว
ขณะที่สถานการณ์น้ำท่วม ภายในเขตเทศบาลเมืองพะเยา ระดับน้ำยังคงทรงตัวและยังคงเข้าท่วมบริเวณบ้านเรือนชาวบ้านริมกว๊านพะเยา และถนนจำนวนหลายจุดในตัวเมือง
ปัจจัยฝนล้อมรอบ ส่งผลไทยตอนบน
ปัจจัยทางสภาพอากาศที่ล้อมรอบประเทศไทย ทำให้เกิดฝนต่อเนื่อง ตัวการแรก คือ ร่องมรสุมพาดผ่านภาคเหนือตอนบน และลาวตอนบน เข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณเวียดนามตอนบน ในขณะเดียวกันมรสุมประจำฤดู หรือ มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน และอ่าวไทยเริ่มมีกำลังแรงขึ้นเป็นกำลังปานกลาง
ปัจจัยทั้งหมดนี้ จึงทำให้ตอนบนของไทยมีฝนตกต่อเนื่อง และคาดว่าจะตกแบบนี้ไปอีก 1-2 วัน พี่น้องทางภาคเหนือ ภาคอีสานต้องรับมือ
หลังจากนั้น ตัวการร่องมรสุมจะเลื่อนลงมาพาดผ่าน แถว ๆ ภาคเหนือ ภาคอีสาน และภาคกลางตอนบน ส่งผลให้มีฝนปกคลุมเพิ่มขึ้นหลายพื้นที่ บริเวณภาคเหนือตอนบน ภาคอีสานตอนบน ภาคกลางด้านตะวันตก ภาคตะวันออก และภาคใต้ฝั่งอันดามัน ซึ่งต้องเฝ้าระวังจนถึง 28 สิงหาคมนี้
ส่วนสถานการณ์ฝนกระหน่ำ ตกไม่ลืมหูลืมตาในพื้นที่เดิมซ้ำ ๆ นักวิชาการบางคนนิยามว่า "Rain Bomb" คำนี้เป็นศัพท์ใหม่ ยังไม่ถูกใช้อย่างเป็นทางการ แต่พูดให้เข้าใจง่าย ๆ คือตกแบบฟ้ารั่ว
ซึ่งในทางอุตุนิยมวิทยา อธิบายว่า "Rain Bomb" คือฝนฟ้าคะนอง ซึ่งหมายถึงฝนตกหนัก ตกซ้ำ ๆ เหมือนกัน ลักษณะการเกิดฝนแบบดังกล่าว คือเกิดใต้ร่องมรสุม โดยมีปัจจัยอากาศร้อนมาปะทะกับมวลอากาศเย็น พอทั้ง 2 ปัจจัยมาเจอกันใต้ร่องมรสุม จึงเกิดฝนตกกระหน่ำซ้ำ ๆ
รัฐบาล เร่งช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย
นายจักรพงษ์ แสงมณี รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ประชุมติดตามและเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำท่วม ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมอุตุนิยมวิทยา เพื่อประเมินสถานการณ์ พร้อมแนวทางการเยียวยาตามระเบียบ
เบื้องต้นได้รับรายงานว่าสถานการณ์น้ำไม่หนักเท่าปี 2554 และได้มีการกำชับกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย และ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ที่มีศูนย์แจ้งเตือน ได้ประชาสัมพันธ์และแจ้งข้อมูลให้ประชาชนได้รับทราบอย่างทั่วถึง โดยเสริมอุปกรณ์ กระจายสัญญาณ รถโมบายเคลื่อนที่ ลงพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ เพื่อแก้ปัญหาการสื่อสารแล้ว หลังได้รับการร้องเรียนจากผู้ประสบอุทกภัย
นอกจากนี้จะเตรียมรับมือน้ำที่ไหลมายังภาคกลางและกทม. หลังมีการเตือนจาก ปภ. ที่พร้อมให้การช่วยเหลือตลอด 24 ชั่วโมง
จับตาระดับแม่น้ำสายหลักของไทย
มาดูเส้นทางน้ำในประเทศไทย แม่น้ำ 4 สาย หลัก ทั้งแม่น้ำปิง วัง ยม น่าน ซึ่งนำพามวลน้ำจากภาคเหนือ จากแผนที่น้ำ ทางด้านซ้าย ต้นทางคือแม่น้ำปิง และแม่น้ำวังจะมีทั้งเขื่อนกิ่วลม จังหวัดลำปาง และเขื่อนภูมิพล จังหวัดตาก ซึ่ง กรมชลประทานลดการระบายน้ำ เพื่อลดผลกระทบ อย่างเขื่อนภูมิพล ระบายน้ำเพียง 57.87 ลูกบาศก์เมตร ต่อวินาทีเท่านั้น
เริ่มที่แม่น้ำยมซึ่งในพื้นที่ไม่มีเขื่อนกั้น หากฝนตกมาก น้ำจะท่วมจังหวัดพะเยา แพร่ สุโขทัยและพิษณุโลกเป็นประจำตอนนี้ จังหวัดสุโขทัยรับวิกฤตหนักสุด หลังน้ำเหนือหลากถล่มพื้นที่จังหวัดสุโขทัย หลายจุดเริ่มส่อวิกฤต
ส่วนริมขวาสุดของกราฟฟิก คือแม่น้ำน่าน จุดนี้จะมีเขื่อนสิริกิติ์ ทำหน้าที่รับน้ำ และระบายน้ำ
จากนั้นมวลน้ำมหาศาลทั้ง 4 สาย จะเลื่อนลงมาผ่านภาคกลาง ก่อนจะถึงภาคกลาง จะผ่านจุดสำคัญคือปากแม่น้ำโพ จังหวัดนครสวรรค์ ซึ่งคาดว่าจะมีน้ำ 1,200-1,400 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ถือเป็น 1 ใน 3 ของความจุลำน้ำ เมื่อถึงจุดนี้ มวลน้ำจะเลื่อนลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา
คาดการณ์กันว่า วันนี้ มวลน้ำมหาศาลจะไหลบ่าลงสู่พื้นที่ภาคกลาง ซึ่งกรมชลประทาน บริหารจัดการน้ำ ด้วยการหน่วงน้ำไว้ที่เหนือประตูระบายน้ำบ้านหาดสะพานจันทร์ อำเภอสวรรคโลก จังหวัดนครสวรรค์ และใช้คลองหกบาท คลองยมน่าน แม่น้ำยมสายเก่า และแม่น้ำน่าน ช่วยตัดมวลน้ำหลาก ก่อนเข้าสู่ตัวเมืองสุโขทัย เพื่อลดผลกระทบ
ทีมข่าวลงพื้นที่ถามชาวกรุงเทพฯ และปริมณฑล ส่วนใหญ่กังวล พูดเป็นเสียงเดียวกัน จะท่วมหนักเหมือนปี 54 ไหม เพราะปีนั้น ทุกคนลำบากมาก บ้านเรือนเสียหายหนักจริง ๆ
มูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยาก สภากาชาดไทย ขอเชิญ "ร่วมแบ่งปัน ช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย" ร่วมบริจาคได้ที่ เลขที่บัญชี 020-3-04545-1 ธนาคารไทยพาณิชย์ กระแสรายวัน หรือสแกน QR Code E-Donation บริจาคผ่านระบบ Mobile Banking ได้ทุกธนาคาร ใบเสร็จสามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้ สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม โทร.02-054-6546 Line Official : @friendsofpa