อว. มอบ 4 มาตรการ 12 แนวทางการรับน้อง ย้ำประชุมเชียร์ต้องสร้างสรรค์ ไร้ความรุนแรง
วันนี้ (9 ส.ค.67) นางสาวศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) พร้อมอธิการบดีสถาบันอุดมศึกษาในสังกัด ร่วมประชุมหารือ พร้อมมอบนโยบาย เพื่อยกระดับมาตรการการรับน้องใหม่และความปลอดภัยในสถาบันอุดมศึกษา ส่งเสริมและสนับสนุนกิจกรรมรับน้องอย่างสร้างสรรค์ ปราศจากความรุนแรงทุกรูปแบบ และเน้นความปลอดภัยของนิสิตนักศึกษาเป็นหลัก
รมว.อว. เปิดเผยหลังการประชุมว่า เมื่อ 2-3 สัปดาห์ที่ผ่านมา มีเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับ มทร.สุวรรณภูมิ ซึ่งแท้จริงแล้ว กิจกรรมรับน้องที่เกิดขึ้นนั้น ไม่ใช่กิจกรรมที่เกิดขึ้นในชมรมของสถาบัน แต่เป็นเพียงกลุ่มรุ่นพี่ที่ชักชวนรุ่นน้องกลุ่มหนึ่งไปทำกิจกรรมตามความเชื่อนอกสถานที่ จนเกิดความรุนแรงขึ้นมา เพราะฉะนั้นวันนี้จึงได้มีการเรียกประชุม และได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดี จากอธิการบของสถาบันอุดมศึกษาในสังกัด เพื่อยกระดับมาตรการต้อนน้องใหม่และสร้างความปลอดภัยในสถาบันอุดมศึกษา โดยยืนยันว่าทางกระทรวง อว. ให้ความสำคัญเรื่อง การดูแลนิสิตนักศึกษาทั้งร่างกายและจิตใจ นักศึกษาจะต้องเรียนและอยู่อย่างมีความสุขในรั้วสถาบัน
กระทรวง อว. ได้เน้นย้ำเรื่องกิจกรรมการรับน้องและประชุมเชียร์ในสถาบันอุดมศึกษา โดยขอให้เป็นกิจกรรมที่จัดขึ้นด้วยความเคารพสิทธิเสรีภาพ และยึดหลักความเสมอภาค ไม่มีความรุนแรงเข้ามาเกี่ยงข้อง พร้อมทั้งห้ามล่วงละเมิดสิทธิส่วนบุคคลทั้งทางร่างกายและจิตใจ ต้องไม่จัดนอกสถานที่และต้องเปิดเผยได้ เพื่อความปลอดภัยของนักศึกษา และต้องอยู่ในความดูแลรับผิดชอบร่วมกันของผู้บริหาร คณาจารย์ และนักศึกษารุ่นพี่ โดยกิจกรรมที่จัดให้มีลักษณะสร้างสรรค์ สร้างความอบอุ่นให้รุ่นน้อง และไม่ขัดต่อระเบียบสถาบัน กฎหมาย และประเพณีอันดีงาม
นโยบายการการจัดกิจกรรมต้อนรับน้องใหม่ และประชุมเชียร์ในสถาบันอุดมศึกษา จะแบ่งออกเป็น 4 มาตรการ คือ
1.การป้องกัน 2.การเฝ้าระวัง 3.ความรับผิดชอบ และ 4.การลงโทษ
โดยมีแนวทางคือ 1.ด้านการป้องกัน (1).ให้สถาบันอุดมศึกษาออกกฎ ระเบียบ ข้อบังคับหรือหลักเกณฑ์ให้สอดคล้องกับแนวนโยบายของกระทรวง อว. โดยกำหนดการพิจารณาอนุญาต การรับผิดชอบ การกำกับ ระยะเวลาการจัดกิจกรรม รูปแบบแนวทาง รวมทั้งบทลงโทษกรณีฝ่าฝืน ตามความเหมาะสม
(2).ให้สถาบันอุดมศึกษามีมาตรการในการป้องกันการจัดกิจกรรมที่ไม่เหมาะสม ที่จะก่อให้เกิดความเสียหายต่อร่างกายและจิตใจของนิสิตนักศึกษา อาทิเช่น การควบคุมการเข้าออกในพื้นที่ การติดตั้งกล้องวงจรปิด
(3).รุ่นพี่ที่จัดกิจกรรมจะต้องได้รับการคัดเลือก มีการเตรียมความพร้อม พัฒนาทักษะ จิตสำนึกก่อนการจัดกิจกรรม และจะต้องเสนอโครงการจัดกิจกรรมเป็นลายลักษณ์อักษร และจะจัดกิจกรรมได้ต่อเมื่อได้รับอนุมัติแล้วเท่านั้น
(4).ให้สถาบันอุดมศึกษา เปิดเผยรูปแบบกิจกรรม ระเบียบข้อบังคับ กฎหมายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อสร้างความเข้าใจกับนิสิตนักศึกษา บุคลากร ผู้ปกครอง และประชาชนทั่วไปให้เข้าใจวัตถุประสงค์ นโยบายและมาตรการ รวมทั้งมีทัศนคติที่ดีต่อการจัดกิจกรรม ตลอดจนร่วมตรวจสอบการจัดกิจกรรมได้
(5).ก่อนจัดกิจกรรมต้องแจ้งรายละเอียดของกิจกรรมให้น้องใหม่ทราบ ซึ่งน้องใหม่สามารถพิจารณาเข้าร่วมกิจกรรมได้ตามความสมัครใจ รวมทั้งเปิดโอกาสให้ผู้ปกครองเข้ามาสังเกตการณ์ได้
(6).ให้สถาบันอุดมศึกษามีการประเมินผล และแลกเปลี่ยนเรียนรู้การจัดกิจกรรมต้อนรับน้องใหม่และประชุมเชียร์ มีการยกย่องชมเชยนิสิตนักศึกษาที่มีการจัดกิจกรรมอย่างสร้างสรรค์ให้เป็นที่ประจักษ์ต่อสาธารณชน
มาตรการที่ 2 ด้านการเฝ้าระวัง คือ (7).ให้สถาบันอุดมศึกษาเฝ้าระวังช่วงการจัดกิจกรรม โดยให้มีช่องทางการสื่อสารข้อมูลระหว่างนักศึกษา สื่อมวลชน ผู้ปกครอง กับ สถาบันอุดมศึกษา
(8).ให้สถาบันอุดมศึกษาเฝ้าระวังนักศึกษารุ่นพี่กลุ่มเสี่ยง ที่อาจก่อให้เกิดเหตุการณ์ที่ไม่เหมาะสม
(9).ให้สถาบันอุดมศึกษา ประสานงานกับเจ้าหน้าที่ตำรวจในท้องที่ เพื่อตรวจตราเป็นประจำ หรือตรวจค้นภายในสถาบันอุดมศึกษาตามความเหมาะสม (10).หากมีกรณีการจัดกิจกรรมที่ไม่เหมาะสม ก่อให้เกิดความเสียหายต่อร่างกายและจิตใจของนิสิต นักศึกษา ให้สถาบันอุดมศึกษารายงานสำนักงานปลัดกระทรวง อว. ทันที
มาตรการที่ 3 ด้านความรับผิดชอบ (11).ให้ผู้บริหารสถาบันอุดมศึกษาแต่ละสถาบัน ถือเป็นหน้าที่และความรับผิดชอบในการดำเนินการตามนโยบายและมาตรการข้างต้นอย่างเคร่งครัด กรณี เกิดการจัดกิจกรรมที่ไม่เหมาะสม ที่ก่อให้เกิดควาเสียหายต่อร่างกายและจิตใจของนิสิต นักศึกษา ให้สถาบันอุดมศึกษาเร่งสร้างความเข้าใจ หรือออกแถลงการณ์กับสังคมให้รับทราบข้อเท็จจริง แนวทางการแก้ปัญหา และการเยียวยา เพื่อแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมส่วนรวม ทั้งนี้ หากเกิดความรุนแรง และพบว่าเป็นความบกพร่องของสถาบันอุดมศึกษา ผู้บริหารสถาบันอุดมศึกษาต้องรับผิดชอบในความบกพร่องดังกล่าว
และมาตรการที่ 4 ด้านการลงโทษ (12).ให้ผู้บริหารสถาบันอุดมศึกษา พิจารณาลงโทษตามกฎ ระเบียบ ข้อบังคับ ของสถาบัน รวมถึงดำเนินการทางกฎหมายอย่างจริงจัง เด็ดขาด และรวดเร็วกับนิสิต นักศึกษา รวมถึงผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในการจัดกิจกรรมที่ขัดต่อหลักสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน หลักความเสมอภาค และกฎหมาย