สรุปสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ วันที่ 2 ก.ย. 67 เวลา 7.00 น.
1.ปริมาณฝนสะสม 24 ชม. สูงสุด ได้แก่
ภาคเหนือ : จ.พิษณุโลก (89 มม.) ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ : จ.อุบลราชธานี (160 มม.)
ภาคกลาง : จ.นนทบุรี (105 มม.)
ภาคตะวันออก : จ.ชลบุรี (95 มม.)
ภาคตะวันตก : จ.กาญจนบุรี (137 มม.) ภาคใต้ : จ.ระนอง (60 มม.)
สภาพอากาศวันนี้ : ร่องมรสุมพาดผ่านภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณทะเลจีนใต้ตอนกลาง ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังปานกลางพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย ทำให้ประเทศไทยมีฝนเพิ่มขึ้น กับมีฝนตกหนักบางแห่ง
คาดการณ์ : ช่วงวันที่ 3-7 ก.ย. 67 ร่องมรสุมจะเลื่อนลงมาพาดผ่านภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลาง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณทะเลจีนใต้ตอนกลางประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทยจะมีกำลังแรงขึ้น ทำให้ประเทศไทยมีฝนเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนักหลายพื้นที่ โดยมีฝนตกหนักมากบางพื้นที่บริเวณภาคตะวันออกและภาคใต้
2. สถานการณ์น้ำอ่างเก็บน้ำในภาพรวม : ปริมาณน้ำรวม 58% ของความจุเก็บกัก (46,585 ล้าน ลบ.ม.) ปริมาณน้ำใช้การ 39% (22,423 ล้าน ลบ.ม.)
3. ประกาศสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ :
ประกาศสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ฉบับที่ 13/2567 ลงวันที่ 1 ก.ย.67 เรื่อง เฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก ในช่วงวันที่ 3 – 9 ก.ย. 67 พบว่ามีพื้นที่เสี่ยงต้องเฝ้าระวัง ดังนี้
- พื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก ดินโคลนถล่ม และบริเวณชุมชนเมืองที่เกิดน้ำท่วมขังอยู่เป็นประจำเนื่องจากระบายไม่ทัน บริเวณ จ.ตาก สุโขทัย อุตรดิตถ์ พิษณุโลก เพชรบูรณ์ เลย หนองคาย บึงกาฬ อุบลราชธานี นครนายก ปราจีนบุรี ชลบุรี ระยอง จันทบุรี ตราด ชุมพร ระนอง พังงา ภูเก็ต สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช ตรัง พัทลุง และสตูล
- เฝ้าระวังอ่างเก็บน้ำขนาดกลางและเล็กที่มีปริมาณน้ำมากกว่าร้อยละ 80
- เฝ้าระวังระดับน้ำเพิ่มขึ้นอย่างฉับพลันและระดับน้ำล้นตลิ่งและท่วมขังในพื้นที่ลุ่มต่ำ บริเวณแม่น้ำสายหลักและลำน้ำสาขาของ แม่น้ำยม แม่น้ำแควน้อย แม่น้ำจันทบุรี แม่น้ำตราด โดยเฉพาะแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณ คลองโผงเผง จ.อ่างทอง คลองบางบาล จ.พระนครศรีอยุธยา และแม่น้ำน้อย ต.หัวเวียง อ.เสนา ต.ลาดชิด ต.ท่าดินแดง อ.ผักไห่ จ.พระนครศรีอยุธยา
4. แนวทางการบริหารจัดการน้ำ : วานนี้ (1.ก.ย. 67) ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) และคณะ พร้อมด้วย นายภูสิต สมจิตต์ ผู้ว่าราชการ จ.พิษณุโลก
และนายวรพจน์ เพชรนรชาติ ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 3 กรมชลประทาน ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำและบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำยม - น่าน รวมทั้งความพร้อมของ
โครงการบางระกำโมเดล ที่ใช้ทุ่งบางระกำเป็นพื้นที่หน่วงน้ำให้ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพตาม 10 มาตรการรับมือฤดูฝน ปี 2567 และเป็นไปตาม พระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ. 2561
ทั้งนี้ เลขาธิการ สทนช. ได้กำชับให้กรมชลประทานบริหารจัดการน้ำทุ่งบางระกำ จ.พิษณุโลก ให้สัมพันธ์กับการบริหารจัดการน้ำทุ่งทะเลหลวง จ.สุโขทัย โดยต้องเฝ้าระวังระดับน้ำไม่ให้เกิดผลกระทบต่อประชาชนในพื้นที่
และให้ข้อแนะนำในการจัดเตรียมแผนงาน/โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการรับน้ำในพื้นที่ทุ่งบางระกำโมเดล เช่น การยกระดับถนนคันดิน สถานีสูบน้ำ ประตูระบายน้ำ โดยให้ปรับแผนต่าง ๆ ที่มีความพร้อมเพื่อเสนอเข้าแผน 3 ปี ด้านทรัพยากรน้ำ พร้อมพิจารณาจัดทำแผนการรับน้ำเข้าทุ่งโดยจัดเตรียมเสนอพื้นที่ทุ่งรับน้ำเพิ่มเติม เพื่อช่วยบริหารจัดการน้ำหลากในช่วงฤดูฝนที่มีปริมาณน้ำมากเกินประสิทธิภาพการระบายน้ำ ซึ่งจะสามารถป้องกันและ
บรรเทาอุทกภัยได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป
5. สถานการณ์น้ำท่วม : วันที่ 1 ก.ย. 67 ในพื้นที่ 6 จังหวัด ได้แก่ จ.เชียงราย (อ.เมืองฯ เทิง ขุนตาล พญาเม็งราย และเวียงแก่น) จ.เชียงใหม่ (อ.แม่ริม) จ.ลำปาง (อ.แจ้ห่ม และงาว)
จ.สุโขทัย (อ.เมืองฯ ศรีสัชนาลัย สวรรคโลก ศรีสำโรง ศรีนคร และกงไกรลาศ) จ.พิษณุโลก (อ.บางระกำ และพรหมพิราม) และ จ.หนองคาย (อ.เมืองฯ ท่าบ่อ ศรีเมืองใหม่ สังคม และรัตนวาปี)