เขื่อนเจ้าพระยา ระบายน้ำเพิ่ม 1,449 ลบ.ม./วินาที

View icon 62
วันที่ 4 ก.ย. 2567 | 06.03 น.
เช้านี้ที่หมอชิต
แชร์
เช้านี้ที่หมอชิต - น้ำท่วมในหลายจังหวัดทางภาคเหนือ ยังคงมีฝนตกต่อเนื่อง ส่งผลให้พื้นที่ลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา นอกคันกั้นน้ำ ต้องเตรียมรับมือระดับน้ำเพิ่มขึ้นอีก เพื่อรอรับฝนระลอกใหม่ ช่วง 3-9 กันยายนนี้ 

เขื่อนเจ้าพระยา ระบายน้ำเพิ่ม 1,449 ลบ.ม./วินาที
วานนี้ เขื่อนเจ้าพระยา จังหวัดชัยนาท ได้ปรับเพิ่มการระบายน้ำท้ายเขื่อน จาก 1,399 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที เป็น 1,449 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ทำให้ระดับน้ำท้ายเขื่อน ที่อำเภอสรรพยา น้ำสูงขึ้นจากวันก่อน 18 เซนติเมตร และเมื่อเวลา 11.00 น.วานนี้ (3 ก.ย.) ได้ปรับเพิ่มการระบายน้ำขึ้นอีก เป็น 1,498 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที

หลากท่วม 5 อำเภอ "พระนครศรีอยุธยา"
ส่งผลให้ระดับน้ำท้ายเขื่อนในพื้นที่ลุ่มต่ำนอกคันกั้นน้ำ อย่างเช่น จังหวัดพระนครศรีอยุธยา บริเวณพื้นที่ลุ่มต่ำนอกคันกั้นน้ำของแม่น้ำน้อย คลองสาขาต่าง ๆ ที่รับน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยา ล้นตลิ่งเข้าท่วมในพื้นที่แล้ว 5 อำเภอ ได้แก่ อำเภอบางบาล อำเภอผักไห่ อำเภอบางไทร อำเภอเสนา และ อำเภอพระนครศรีอยุธยา มีประชาชนได้รับความเดือนร้อนกว่า 6,031 ครัวเรือน

ชาวบ้านท่าดินแดง ตำบลท่าดินแดง อำเภอผักไห่ บ้านถูกน้ำท่วมสูง 2 เมตร ผู้ป่วยติตเตียงใช้ชีวิตยากลำบาก ต้องใช้เรือในการสัญจรไปมา อย่าง นางอ้อย อายุ 70 ปี ผู้ป่วยอำมพฤกษ์ครึ่งซีก บอกว่า พักอยู่บ้านตามลำพังเพราะห่วงบ้าน ส่วนลูกสาวทำงานที่กรุงเทพฯ ขณะนี้บ้านถูกน้ำท่วมสูงเกือบ 2 เมตร ทำให้ใช้ชีวิตอยู่อย่างลำบากมาก  

ชาวชุมชนท่าอิฐ ระวังน้ำท่วมสูง
ที่จังหวัดนนทบุรี แม่น้ำเจ้าพระยา เอ่อเข้าท่วมพื้นที่ชุมชนมัสยิดท่าอิฐ อำเภอปากเกร็ด เมื่อคืน เนื่องจากมีน้ำทะเลหนุนสูง ชาวบ้านได้รับความเดือดร้อนเป็นวงกว้าง เช้านี้น้ำลดลง ทาง อบต.ท่าอิฐ และเจ้าหน้าที่ทหาร เร่งระดมนำกระสอบทราย กว่า 50,000 กระสอบ วางตามแนวริมตลิ่งแม่น้ำเจ้าพระยา เพื่อป้องกันน้ำท่วมในจุดเสี่ยง และต้องระวังน้ำทะเลหนุนสูงอีก เนื่องจากชุมชนท่าอิฐ เป็นพื้นที่ต่ำจะถูกน้ำท่วมเป็นแห่งแรกในจังหวัด

เตือนน้ำทะเลหนุน แม่น้ำเจ้าพระยายกตัวสูง 2 ม.
นายชรินทร์ สินสงวน หัวหน้าฝ่ายป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กล่าวว่า เมื่อวานนี้ (3 กันยายน) น้ำทะเลหนุน ทำให้น้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา ยกตัวสูงขึ้น 2.00 เมตร ซึ่งน้อยกว่าเมื่อวันที่ 2 กันยายน แต่ยังต้องเฝ้าระวังอยู่ตลอดเวลา เกรงว่าฝนจะตกลงมาอีก ซึ่งทางเจ้าหน้าที่ได้ติดตั้งเครื่องสูบน้ำลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา และเตรียมกระสอบทรายเอาไว้ตลอดเวลา

จากการคาดการณ์ปริมาณน้ำล่วงหน้า 3-9 กันยายน พบว่าปริมาณน้ำมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ทางกรมชลประทาน แจ้งเตือนไปยังผู้ว่าราชการจังหวัด 11 จังหวัด ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ได้แก่ อุทัยธานี ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง สุพรรณบุรี พระนครศรีอยุธยา ลพบุรี ปทุมธานี นนทบุรี สมุทรปราการ และกรุงเทพมหานคร ให้เตรียมรับมือสถานการณ์น้ำ

กว๊านพะเยา ระบายน้ำเพิ่ม น้ำท่วมขังลดลง
ขึ้นเหนือไปที่จังหวัดพะเยา ตอนนี้ ระดับน้ำท่วมขังในพื้นที่เศรษฐกิจ บริเวณโดยรอบกว๊านพะเยาเขตเทศบาลเมือง เริ่มลดลงอย่างต่อเนื่อง หลังเจ้าหน้าที่ชลประทานพะเยา เพิ่มการระบายน้ำออกจากกว๊านพะเยา ลงสู่แม่น้ำอิง จาก 12 ล้านลูกบาศก์เมตร เป็น 14 ล้านลูกบาศก์เมตร ส่งผลให้ถนนที่ถูกน้ำท่วม เด็ก ๆ เล่นน้ำบนถนนได้วานนี้ ตอนนี้น้ำแห้งแล้ว เจ้าหน้าที่รวมทั้งชาวบ้าน เริ่มเข้าทำความสะอาดบริเวณพื้นผิวถนน

ครม.อนุมัติงบฯ ฟื้นฟูหลังน้ำลด
นายศึกษิษฏ์ ศรีจอมขวัญ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี ว่า นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติหน้าที่แทนนายกรัฐมนตรี สั่งการให้เร่งสำรวจพื้นที่ ตรวจสอบความเสียหาย และเร่งรัดเยียวยาฟื้นฟูผู้ประสบภัยน้ำท่วม สั่งทำแผนรองรับฉุกเฉินในอนาคต โดยคณะรัฐมนตรี อนุมัติงบกลางฉุกเฉินซ่อมแซม ปรับปรุงคลองส่งน้ำชลประทาน วงเงิน 2,289 ล้านบาท และอนุมัติงบกลางซ่อมแซมถนนในจังหวัดน้ำท่วมวงเงิน 3,017 ล้านบาท

เหนือ-อีสานเสี่ยงรับอิทธิพล "ยางิ"
นายธเนศร์ สมบูรณ์ ผอ.สำนักบริหารจัดการน้ำและอุทกวิทยา กรมชลประทาน กล่าวถึง พายุโซนร้อนยางิ จากฟิลิปปินส์ กำลังเคลื่อนตัวช้า ๆ ไปทิศตะวันตก คาบสมุทรอินโดจีน และจะเข้าจีนตอนใต้ และเวียดนามตอนบนช่วง 6-7 กันยายนนี้ แม้พายุจะไม่เข้าไทยโดยตรง แต่ปลายพายุที่เข้าทางเวียดนาม ทำให้ภาคเหนือตอนบน อีสานตอนบน จะมีฝนจะมาเติมในเขตลุ่มน้ำยม ลุ่มน้ำน่าน ดังนั้นจุดที่ต้องเร่งระบายน้ำคือ แพร่ สุโขทัย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง