ห้องข่าวภาคเที่ยง - ครอบครัวของลูกจ้างสาวที่เสียชีวิต เรียกร้องขอความเป็นธรรม ให้โรงงานรับผิดชอบ ภายหลังจากที่หัวหน้างานของโรงงานชื่อดัง ย่านบางปู จังหวัดสมุทรปราการ ไม่ยอมให้ลาป่วย จนกระทั่งอาการหนักเข้าโรงพยาบาล และสุดท้ายเสียชีวิตจากลำไส้อักเสบ
ญาติร้องโรงงานรับผิด ห้ามลา ลูกจ้างเสียชีวิต จ.สุโขทัย
ที่วัดวาลุการาม อำเภอคีรีมาศ จังหวัดสุโขทัย ญาติรับศพของหญิงสาวอายุ 30 ปี พนักงานโรงงานดังแห่งหนึ่ง ย่านนิคมบางปู ที่เสียชีวิตจากโรคลำไส้อักเสบ ซึ่งเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์กันมาก ประเด็นที่หัวหน้างานไม่ยอมให้ลาป่วย เพราะเป็นการลาในครั้งที่ 2 ของเดือนนี้ พอหัวหน้าไม่ให้ลาต่อ จนหญิงสาวต้องฝืนมาทำงานจนร่างกายรับไม่ไหว สุดท้ายไปหาหมออีกรอบ ก็ไม่ทันแล้ว เสียชีวิตจากโรคลำไส้อักเสบ ไม่มีโอกาสได้ลาครอบครัว ที่มีลูก ๆ 2 คน สามี รวมไปถึงพ่อและแม่ที่จังหวัดสุโขทัย
แม่ร้องไห้เสียใจ ที่ลูกมีเจ้านายใจดำ คนป่วยก็ไม่ให้ลา เหมือนบังคับให้ลูกสาวทำงานจนเสียชีวิต ความสูญเสียที่เกิดขึ้น ครอบครัวจะเดินหน้าเรียกร้องขอความเป็นธรรม ให้โรงงานและหัวหน้างานมารับผิดชอบครอบครัว ดูแลหลาน 2 คน เรื่องการเรียน ความเป็นอยู่ของหลาน ๆ เพราะไม่มีแม่คอยส่งเสียเลี้ยงดูแล้ว
ขณะที่ ฝ่ายนายจ้างของน้อง ขอตรวจสอบปมหัวหน้างาน ไม่ให้ลูกน้องลาป่วยจนสุดท้ายเสียชีวิต
โรงงานอิเล็คทรอนิคส์แห่งหนึ่ง ย่านบางปู จังหวัดสมุทรปราการ ออกแถลงการณ์ไว้อาลัยต่อการจากไปของเพื่อนร่วมงาน และขอแสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้งต่อครอบครัว
.
ขณะนี้บริษัทฯ กำลังอยู่ในขั้นตอนการตรวจสอบทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องอย่างละเอียดเพื่อหาข้อเท็จจริง และตรวจสอบสถานการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างถี่ถ้วน พร้อมทั้งให้การช่วยเหลือแก่ครอบครัวของพนักงานอย่างเต็มที่ ขอบคุณทุกคนที่เข้าใจถึงสถานการณ์ที่ละเอียดอ่อนนี้ และจะแจ้งข้อมูลให้ทราบอีกครั้ง
นายจ้างชี้แจง ให้ลาป่วยตามสิทธิแรงงาน
สอบถามไปยัง นางสาวกาญจนา พูลแก้ว รองอธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กล่าวว่า ฝั่งนายจ้างรายงานข้อมูล บอกว่า แรงงานผู้เสียชีวิตใช้สิทธิลาป่วยตามปกติ โดยลาป่วยตั้งแต่ต้นเดือนกันยายน รักษาอาการปวดท้อง
จนผู้เสียชีวิตมีอาการดีขึ้น แล้วกลับมาทำงาน โดยยื่นใบรับรองแพทย์ตามปกติ เพราะลาเกิน 3 วัน และเข้าเวรกะกลางคืน แต่จู่ ๆ ผู้เสียชีวิตอาการกำเริบอีกครั้ง ทางเพื่อนร่วมงานจึงพาไปห้องพยาบาล และพาไปโรงพยาบาลภายหลัง ก่อนจะมาเสียชีวิต
ซึ่งนี่เป็นการชี้แจงเบื้องต้นจากฝั่งนายจ้าง อย่างไรก็ตาม ทางกรมฯ จะต้องสอบสวนข้อเท็จจริงฝั่งลูกจ้างอีกครั้ง ก่อนดำเนินการ