เวลา 09.07 น. วันนี้ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปทรงติดตามการดำเนินโครงการตามพระราชดำริ ที่โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนบ้านโคกแสลง อำเภอพนมดงรัก จังหวัดสุรินทร์ ซึ่งได้ทรงติดตามการดำเนินงาน ผ่านระบบออนไลน์ เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2564 โดยเป็นโรงเรียนที่อยู่ห่างจากชายแดนกัมพูชา ประมาณ 6 กิโลเมตร เปิดสอนชั้นอนุบาล ถึงประถมศึกษาปีที่ 6 มีนักเรียน 123 คน
โอกาสนี้ พระราชทานพระราชวโรกาสให้ นักเรียนในพระราชานุเคราะห์ และศิษย์เก่า เฝ้าทูลละอองพระบาท กราบบังคมทูลรายงานผลการเรียน และการทำงานหลังจบการศึกษา ซึ่งเป็นการวางรากฐานให้นักเรียนเห็นความสำคัญของการศึกษา นอกจากนี้ โรงเรียนฯ ยังจัดกระดานบุคคลตัวอย่างทำความดีวันนี้ เพื่อชื่นชมนักเรียนที่ทำความดีในแต่ละวัน และเป็นการฝึกความซื่อสัตย์ให้กับนักเรียนด้วย
โรงเรียนฯ ดำเนินงานตามแผนพัฒนาเด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดาร ฉบับที่ 5 ประสบผลสำเร็จในหลายด้าน โดยได้บูรณาการองค์ความรู้ในแต่ละกลุ่มสาระวิชา เป็นกิจกรรมให้นักเรียนศึกษา ค้นคว้า เพื่อให้เกิดความรู้ ความเข้าใจที่ถูกต้อง อาทิ กิจกรรมการเกษตรกับกลุ่มสาระคณิตศาสตร์ ที่สอนให้เข้าใจการดูและบอกเวลา จากกิจกรรมการปลูกต้นไม้ ทำให้รู้จักคิด วางแผน นำไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน, กิจกรรมสนุกกับการเรียนรู้สารานุกรมไทย ที่สอนให้รู้จักการใช้สารานุกรมไทยในการหาความรู้แขนงต่าง ๆ จากโมเดล ก่อนไปค้นคว้าจากเล่มจริง
ด้านสุขอนามัย มีผู้ปกครองมาช่วยประกอบอาหารกลางวัน โดยใช้วัตถุดิบพืชผักจากโครงการเกษตรเพื่ออาหารกลางวัน เพื่อให้นักเรียนได้รับสารอาหารอย่างครบถ้วนตามหลักโภชนาการ
จากการที่ทรงติดตามการดำเนินโครงการตามพระราชดำริ เมื่อเดือนกรฎาคม 2564 มีพระราชดำริให้โรงเรียนฯ ฝึกขยายพันธุ์พืชด้วยการตอนกิ่ง ทาบกิ่ง และติดตา ซึ่งได้ประสานงานกับสำนักงานเกษตรจังหวัดสุรินทร์มาให้ความรู้ ส่งเสริมให้นักเรียนฝึกปฏิบัติจริง สามารถนำไปใช้ในครัวเรือนได้ เป็นการสนับสนุนการดำเนินงานธนาคารพืชผัก ซึ่งโรงเรียนฯ เป็นศูนย์บริการความรู้ด้านการเกษตรให้กับชุมชนและผู้ที่สนใจ อันเป็นการพัฒนาคุณภาพชีวิตให้กับเยาวชนและราษฎรในพื้นที่อย่างยั่งยืนตามพระราชประสงค์
เวลา 13.25 น. เสด็จพระราชดำเนินไปทรงติดตามความก้าวหน้าของโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนบ้านชำปะโต อำเภอบัวเชด เป็นครั้งที่ 7 โดยเปิดสอนชั้นอนุบาล ถึงประถมศึกษาปีที่ 6 มีนักเรียน 125 คน เมื่อจบชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ส่วนใหญ่จะศึกษาต่อที่โรงเรียนบัวเชดวิทยา โรงเรียนประจำอำเภอ อยู่ห่างออกไปประมาณ 7 กิโลเมตร
โรงเรียนฯ มีแหล่งน้ำบริโภคจากบ่อบาดาล ผ่านเครื่องกรองน้ำ ระบบ RO และระบบ Softener ที่ได้มาตรฐาน ได้รับรางวัลโรงเรียนกองทุนพัฒนาเด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดาร ต้นแบบด้านการจัดการน้ำสะอาดเพื่อการอุปโภคบริโภคระดับเพชร ในปี 2567 การดำเนินงานตามพระราชกระแสรับสั่ง เรื่องการทำปุ๋ยหมักเพื่อบำรุงดิน เมื่อครั้งทรงติดตามการดำเนินงานผ่านระบบออนไลน์ เมื่อปี 2564 โรงเรียนได้น้อมนำมาปฏิบัติ โดยร่วมกับศูนย์พัฒนาที่ดินจังหวัดสุรินทร์ จัดอบรมครู และนักเรียน เรียนรู้การทำปุ๋ยหมักจากเศษวัชพืช และมูลสัตว์ โดยใช้สารเร่งจุลินทรีย์ ปรับปรุงดิน ส่งผลให้ปัจจุบันพืชผักของโรงเรียนเจริญเติบโตได้ผลผลิตดี
ด้านผลการประเมิน O-net ของชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ปี 2566 พบว่าทั้ง 4 กลุ่มสาระมีคะแนนเฉลี่ยสูงกว่าระดับประเทศ, มีนักเรียนในพระราชานุเคราะห์ 49 คน กำลังศึกษา 12 คน มีการจัดตั้งชมรมศิษย์เก่าตั้งแต่ปี 2549 ปัจจุบันมีสมาชิก 649 คน ช่วยดูแลและพัฒนาโรงเรียนในด้านต่าง ๆ รวมถึงการสนับสนุนจากหน่วยงานต่าง ๆ เป็นศูนย์เรียนรู้วิถีชีวิตพอเพียง สอนให้นักเรียนและคนในชุมชนทำการเกษตรที่หลากหลาย อาทิ การปลูกพืชสมุนไพรในท้องถิ่น เพื่อรวบรวม และศึกษาสรรพคุณของพืชสมุนไพรแต่ละชนิด
ด้านกิจกรรมเกษตรเพื่ออาหารกลางวัน สามารถผลิตเนื้อสัตว์ เช่น ไก่พันธุ์ไข่, ไก่เนื้อ และสุกร รวมถึงปลูกผัก และถั่วเมล็ดแห้งเพียงพอกับความต้องการ ส่วนผลไม้ยังไม่เพียงพอ ต้องปรับพื้นที่ด้านหลังโรงอาหาร หลังอาคารเรียนชั้นอนุบาล และบ้านพักครู เพื่อเพิ่มพื้นที่ปลูกผลไม้ อาทิ กล้วย และมะละกอ อีกทั้งขยายผลสู่ชุมชน ส่งเสริมให้ผู้ปกครองนำเมล็ดพันธุ์ผักไปปลูก เพื่อลดรายจ่าย รวมทั้งเลี้ยงไก่พื้นเมือง และปลาดุก
วิทยาลัยเทคนิคสุรินทร์ เข้ามาสอนวิชาคอมพิวเตอร์ให้นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4-6 รวมถึงดูแลระบบไฟฟ้าในโรงเรียน โอกาสนี้ ทอดพระเนตรการเรียนการสอนการออกแบบโปรแกรมคอมพิวเตอร์ขั้นพื้นฐาน กิจกรรมส่งเสริมอาชีพ สอนทำยาหม่องสมุนไพรตะไคร้หอม, สบู่รังไหม, ปลาดุกร้า, น้ำพริกปลาป่น รวมถึงผลิตภัณฑ์จักสานจากกก และเส้นพลาสติก
โอกาสนี้ ผู้แทนบริษัทหัวเว่ยเทคโนโลยี (ประเทศไทย) น้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวายอุปกรณ์ไอที เพื่อใช้ภายในห้องเรียนอัจริยะ อาทิ หัวเว่ย Matepat 40 เครื่อง และ เร้าเตอร์ Wifi เพื่อลดความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษาในพื้นที่ห่างไกล
ก่อนเสด็จพระราชดำเนินกลับทรงเยี่ยมหน่วยแพทย์พระราชทาน ซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ไปตรวจรักษา มีผู้ไปใช้บริการ 114 คน ส่วนใหญ่ป่วยด้วยโรคเหงือกและฟัน รองลงมาคือ โรคระบบทางเดินหายใจ พร้อมทรงเยี่ยมราษฎรที่ไปเฝ้าทูลละอองพระบาทรับเสด็จ ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม ทำไร่ สวนยางพารา และรับจ้าง