เหิมเกริม บุกรุกป่าโครงการจุฬาภรณ์ฯ [เจาะเกาะติด]

View icon 57
วันที่ 17 ก.ย. 2567 | 22.22 น.
ประเด็นเด็ด 7 สี
แชร์
ประเด็นเด็ด 7 สี - ลงใต้ไปที่จังหวัดยะลา ต้องบอกว่าเหิมเกริมมาก พบการซื้อขายและบุกรุก เปิดป่าใหม่ในพื้นที่ ป่าต้นน้ำในโครงการจุฬาภรณ์พัฒนา 7 เหนืออ่างเก็บน้ำเขื่อนบางลาง เพื่อปลูกต้นทุเรียน ติดตามรายงาน คุณเตชะวัฒน์ สุขรักษ์

หลังทุเรียนเป็นผลไม้เศรษฐกิจราคาแพง เกษตรกรจำนวนมากให้ความสนใจหาพื้นที่ปลูก แต่บางรายบุกรุกผืนป่าต้นน้ำที่สำคัญต่อพื้นที่จังหวัดชายภาคใต้

ผืนป่าแปลงนี้ อยู่ในพื้นที่โครงการจุฬาภรณ์พัฒนา 7 จังหวัดยะลา จัดตั้งเมื่อปี 2534 เป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระดำริ ของสมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี โดยมีสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 6 ดูแลพื้นที่ เพื่ออนุรักษ์ ฟื้นฟูสภาพป่า และอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพป่าดิบชื้น

ถือเป็นป่าต้นน้ำ ทะเลสาบฮาลา-บาลา อ่างเก็บน้ำเขื่อนบางลาง แต่พบการบุกรุกที่คาด ทำมาแล้วไม่เกิน 6 เดือน และปลูกต้นทุเรียนราว 1 เดือน

ผืนป่าหลายแปลง ซื้อขายเปลี่ยนมือ ราคาขายยกแปลงตั้งแต่ 100,000 ถึง 1 ล้านบาท ซึ่งชาวบ้านแปลกใจ ซื้อขายได้อย่างไร

เช่นเดียวกับป่าพื้นที่โครงการจุฬาภรณ์พัฒนา 9 พบบุกรุกหลายจุด บางจุดอยู่ในโครงการอนุรักษ์สภาพป่าไม้และสัตว์ป่า สวนป่าพระนามาภิไธยภาคใต้ ส่วนที่ 2 ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง และพื้นที่นิคมสร้างตนเองพัฒนา ซึ่งแหล่งข่าวบอกว่าเป็นฝีมือผู้มีอิทธิพล ที่ข่มขู่ชาวบ้าน

ซึ่งทีมข่าว ติดต่อ นายชาย สุวรรณชาติ ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 6 สาขาปัตตานี ปฏิเสธให้สัมภาษณ์ โดยระบุว่า พื้นที่นี้อยู่ในความรับผิดชอบของหน่วยป้องกันรักษาป่าที่ ยล.3 ซึ่งหัวหน้าหน่วย ปฏิเสธให้สัมภาษณ์เช่นกัน แต่ชี้แจงว่า เจ้าหน้าที่ตรวจสอบป่าถูกบุกรุกในโครงการจุฬาภรณ์พัฒนา 9 แล้ว 2 จุด ก่อนร้องทุกข์กล่าวโทษที่ สภ.แม่หวาด แล้ว ส่วนผืนป่าในโครงการจุฬาภรณ์พัฒนา 7 จะเข้าตรวจสอบอีกครั้ง

ทั้งนี้ในโครงการจุฬาภรณ์พัฒนา 7 ยังมีประเด็นน่าสนใจ แปลงทดลองขยายพันธุ์พืช แทบทุกแปลงถูกทิ้งร้าง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง