รมว.เกษตรฯ ลั่น “ต้องช่วยเหลือเกษตรกรให้ได้มากที่สุดและเร็วที่สุด”

รมว.เกษตรฯ ลั่น “ต้องช่วยเหลือเกษตรกรให้ได้มากที่สุดและเร็วที่สุด”

View icon 112
วันที่ 25 ก.ย. 2567 | 15.40 น.
ข่าวออนไลน์7HD
แชร์
“นฤมล” กำชับ ให้เร่งสำรวจและจ่ายเงินเยียวยาน้ำท่วมให้เกษตรกรเร็วขึ้นจากเดิมภายใน 60 วันเป็นไม่เกิน 45 วัน ประสานสำนักงบฯ ขอแจกเงินสดแทนปัจจัยการผลิต  พร้อมเร่งระบายน้ำเขื่อนเจ้าพระยารับน้ำเหนือ และเตรียมพร้อมรับพายุลูกใหม่

วันนี้ (25 ก.ย.67) นายเอกภาพ พลซื่อ โฆษกกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมด้วย นายอัครา พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรียกประชุมผู้บริหารระดับสูง กำชับให้เร่งสำรวจความเสียหายจากอุทกภัย โดยให้ประสานกระทรวงมหาดไทยและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สรุปความเสียหายและเร่งช่วยเหลือเยียวยา เร่งดำเนินการช่วยเหลือผ่านศูนย์ป้องกันภัยในจังหวัด

“ต้องเร่งลงพื้นที่ที่น้ำท่วม อย่าให้เกิดดราม่าเหมือนหลายปีที่ผ่านมาน้ำท่วมปีนี้ชดเชยปีหน้า ซึ่งตามกฎหมายเมื่อเกิดอุทกภัย ต้องชดเชย เยียวยาให้เกษตรกรภายใน 60 วัน เรื่องนี้อยากให้ลดระยะเวลาจาก 60 ให้เหลือไม่เกิน 45 วัน และนอกจากนั้นกรณีการช่วยเหลือเป็นปัจจัยการผลิต อาทิ เมล็ดพันธุ์พืช เป็ด ไก่ เป็นไปได้ไหมให้จ่ายชดเชยเป็นเงินสดแทน เรื่องนี้ต้องประสานกรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง ว่าจะดำเนินการอย่างไรเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรให้ได้มากที่สุดและเร็วที่สุด”

นายเอกภาพ ระบุ กรมชลประทานได้รายงานสถานการณ์น้ำว่า ประมาณปลายเดือน ก.ย. ต้นเดือน ต.ค.67 จะมีพายุลูกใหม่เข้าในช่วงตอนกลางของประเทศ หรือประมาณจังหวัดเพชรบูรณ์ จังหวัดนครราชสีมา ซึ่งพายุที่มาช่วงตอนกลางของประเทศ ไม่น่ากังวล เพราะในภาคอีสาน ทั้งในแถบลำตะคอง มีน้ำเพียง 28-30% ของความจุเขื่อน และอีกหลายเขื่อนยังมีปริมาณน้ำไม่มาก หากพายุเข้ามาจะช่วยเติมน้ำ เพื่อเก็บกักน้ำไว้ใช้ในช่วงฤดูแล้งหน้า

ส่วนสถานการณ์น้ำในภาคเหนือขณะนี้ สถานการณ์น้ำในเขื่อน มีไม่มาก ประมาณ 50% ของความจุเขื่อน หากฝนตกในจังหวัดเชียงใหม่ มีแม่น้ำปิง น้ำก็จะไหลลงเขื่อนภูมิพล ที่ยังสามารถรองรับปริมาณน้ำอยู่จำนวนมาก  หากมีการผันน้ำลงสำหรับฝนที่ตกและไหลลงแม่น้ำน่าน น้ำจะไหลลงเขื่อนกิ่วคอหมา แต่ยอมรับว่าสำหรับแม่น้ำยม จุดนั้นไม่มีเครื่องมือสำหรับรองรับน้ำ

อย่างไรก็ตาม กรมชลประทานบริหารจัดการน้ำ โดยเพิ่มการระบายน้ำเจ้าพระยา จากปัจจุบันอยู่ที่ 1,050 ลูกบาศก์เมตร/วินาที  เป็น 1,300 ลูกบาศก์เมตร/วินาที  เพื่อรองรับน้ำเหนือที่จะมาสมทบในไม่ช้านี้ ส่วนแก้มลิงบางระกำ ยังสามารถรองรับน้ำได้ประมาณ 2-3 หมื่นลูกบาศก์เมตรต่อวินาที

ทั้งนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ สั่งให้ดูแลผู้ที่ประสบภัยพิบัติ ดูเรื่องอาหารการกิน เรื่องน้ำ ให้ไปช่วยเหลือเร่งประสานหน่วยงานในกระทรวงที่มีเครื่องไม้เครื่องมือ ระดมไปช่วยในพื้นที่ที่มีดินโคลนถล่ม โดยเฉพาะกรมพัฒนาที่ดิน หน่วยงานที่มีเครื่องไม้เครื่องมือและเครื่องจักรเข้าไปช่วยพื้นที่ให้กลับมาสู่สภาพปกติอย่างเร็วที่สุด