สธ.จับตาไข้หวัดนก หลังบุคลากรการแพทย์ สหรัฐฯ ป่วยมีประวัติสัมผัสคนไข้

สธ.จับตาไข้หวัดนก หลังบุคลากรการแพทย์ สหรัฐฯ ป่วยมีประวัติสัมผัสคนไข้

View icon 57
วันที่ 30 ก.ย. 2567 | 16.29 น.
ข่าวออนไลน์7HD
แชร์
สธ.จับตาไข้หวัดนก สหรัฐฯ พบบุคลากรการแพทย์ 6 คน มีอาการโรคทางเดินหายใจ มีประวัติสัมผัสคนไข้ เร่งตรวจสารพันธุกรรมพิสูจน์ให้ชัดติดจากคนสู่คนหรือไม่

วันนี้ (30 ก.ย.67) นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยกรณีการระบาดของโรคไข้หวัดนก H5N1 ในประเทศสหรัฐอเมริกา ว่า จากข้อมูลมีการรายงานพบโรคไข้หวัดนก H5N1 ในสัตว์ปีกและโคนมมาอย่างต่อเนื่องข้ามปี โดยตรวจพบเชื้อไข้หวัดนกในนกป่า 51 รัฐ ในสัตว์ปีกเลี้ยง 48 รัฐ และในฟาร์มโคนม 14 รัฐ และนับตั้งแต่เดือนเมษายน 2567 เป็นต้นมา พบผู้ป่วยยืนยันไข้หวัดนก 14 รายใน 4 รัฐได้แก่ โคโลราโด มิชิแกน มิสซูรี และเท็กซัส

โดยรายสุดท้ายรายงานเมื่อวันที่ 6 กันยายน จากรัฐมิสซูรี ผู้ป่วยส่วนใหญ่เป็นเกษตรกร ยังไม่มีผู้ป่วยเสียชีวิต จากประวัติก่อนป่วยพบว่าผู้ป่วยมีการสัมผัสสัตว์ปีก 9 ราย สัมผัสโคนม 4 ราย และไม่มีประวัติการสัมผัสสัตว์ใด 1 ราย จึงจำเป็นต้องศึกษาโอกาสการแพร่เชื้อจากคนสู่คนและติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ที่ผ่านมา กระทรวงสาธารณสุขร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ในเครือข่ายสุขภาพหนึ่งเดียวประเทศไทย (One Health) ได้ติดตามเฝ้าระวังสถานการณ์โรคไข้หวัดนกมาอย่างต่อเนื่องและยกระดับมาตรการรับมือให้เหมาะสมทันต่อสถานการณ์

นพ.โอภาส กล่าวต่อว่า โรคไข้หวัดนก H5N1 ติดต่อจากสัตว์มาสู่คน แต่ยังไม่พบว่าสามารถติดต่อจากคนสู่คนได้ อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 27 ก.ย.67  มีรายงานข่าวการสอบสวนผู้สัมผัสโรคคนหนึ่งในครอบครัวผู้ป่วยยืนยันไข้หวัดนก และบุคลากรทางการแพทย์ 6 คน ของโรงพยาบาลแห่งหนึ่งในรัฐมิสซูรีที่ผู้ป่วยยืนยันไข้หวัดนกเข้ารับการรักษาเมื่อต้นเดือน ก.ย.67

พบว่าบุคลากรทางการแพทย์กลุ่มนี้มีอาการของระบบทางเดินหายใจเล็กน้อย และส่วนใหญ่หายป่วยแล้ว เก็บตัวอย่างสารคัดหลั่งได้จากบุคลากรที่ป่วย 1 คน แต่ตรวจไม่พบสารพันธุกรรมของไวรัส ขณะนี้อยู่ระหว่างรอผลการตรวจเลือดหาแอนติบอดีต่อเชื้อ H5N1 ที่ศูนย์ป้องกันควบคุมโรคสหรัฐอเมริกา (US CDC) เพื่อเป็นข้อมูลการสอบสวนสำหรับประเมินว่ามีโอกาสที่จะพัฒนาการติดต่อจากสัตว์สู่คน ไปเป็นคนสู่คนหรือไม่ ซึ่งยังต้องรอข้อมูลเพิ่มเติมต่อไป จึงขอให้ประชาชนไม่ต้องตระหนก เนื่องจากประเทศไทยมีระบบการเฝ้าระวังโรคทั้งในสัตว์และในคนที่เข้มแข็ง อีกทั้งไม่พบผู้ป่วยไข้หวัดนกมานานกว่า 18 ปีแล้ว นับตั้งแต่ปี 2549 เป็นต้นมา

ประชาชนทั่วไป แนะนำให้หลีกเลี่ยงการสัมผัสสัตว์ปีกที่มีอาการป่วยหรือตาย ล้างมือบ่อย ๆ ด้วยน้ำและสบู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังสัมผัสสัตว์และสิ่งคัดหลั่งของสัตว์ ไม่นำมือที่เปื้อนมาสัมผัสใบหน้า จมูก ตาและปาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจับต้องเนื้อสัตว์ เครื่องในสัตว์ และเปลือกไข่ที่เปื้อนมูลสัตว์ หากพบสัตว์ปีกป่วยตายผิดปกติ ให้แจ้งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ใกล้บ้านทันทีเพื่อฝังกลบให้ถูกวิธี และห้ามนำซากสัตว์ปีกที่ป่วยตายมาปรุงอาหารเด็ดขาด

ข่าวที่เกี่ยวข้อง