ครูสู้ชีวิต ปิดเทอมลุยน้ำกลับบ้าน

View icon 51
วันที่ 1 ต.ค. 2567 | 06.14 น.
เช้านี้ที่หมอชิต
แชร์
เช้านี้ที่หมอชิต - กว่าจะสอบบรรจุครูได้ ก็ว่ายากแล้ว แต่คุณผู้ชม การใช้ชีวิตเป็นครูชายขอบยากยิ่งกว่า ไปกันที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน ครู กลุ่มหนึ่ง ปิดเทอมอยากจะกลับบ้านใจจะขาด แต่ต้องบอกว่า ครูต้องสู้ชีวิตน่าดู กว่าจะได้กลับบ้านเกิดอะไรขึ้น

ครูสู้ชีวิต ปิดเทอมลุยน้ำกลับบ้าน
ที่เห็นคือ ภาพความทุลักทุเลของครู โรงเรียนบ้านจอสิเดอ  ตำบลแม่คง อำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน ที่ได้ชื่อว่า เป็นครูชายขอบทั้ง 10 คน ต้องเดินทางข้ามน้ำข้ามลำห้วยหลายสิบห้วย เดินเท้าลัดเลาะภูเขาข้ามเขา 5 ชั่วโมง ต่อด้วยนั่งรถยนต์กว่า 10 ชั่วโมง ออกจากโรงเรียนตั้งแต่ 08.00 น. เกือบบ่ายสองเพิ่งจะข้ามลำห้วยมาขึ้นฝั่ง แล้วมาต่อรถยนต์กว่าจะถึงอำเภอแม่สะเรียง มืดค่ำพอดี

นายอาคม น่านกร ครูหนึ่งในสิบท่านที่ร่วมก๊วนเพื่อนครู เดินทางลงมาจากดอยด้วยกันเล่าว่า ก่อนหน้านี้เกิดน้ำป่าไหลหลาก ทำให้เส้นทางไปยังโรงเรียนบ้านจอสิเดอเหนือ หลายจุดเสียหาย แม้แต่รถจักรยานยนต์ก็ไม่สามารถสัญจรไป-มาได้ ครูทั้ง 10 คน จึงได้ประสานกับทางท่านผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านจอซิเดอ ให้นำรถมารับ ณ จุดที่รถยนต์สามารถเข้าถึง เพื่อครูทุกคนจะได้โดยสารกลับภูมิลำเนา เนื่องจากการสอบเสร็จสิ้นแล้วและเป็นช่วงปิดเทอม

น้ำท่วมขัง อ.สารภี เริ่มเน่าเหม็น
ส่วนที่ จังหวัดเชียงใหม่ แม้ว่าระดับน้ำในแม่น้ำปิงที่ไหลผ่านตัวเมืองเชียงใหม่เริ่มเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว แต่ในอำเภอสารภี และอำเภอเมืองบางส่วน ยังมีน้ำท่วมขัง บางจุดขังมากว่า 5 วัน น้ำเริ่มส่งกลิ่นเหม็น

ชาวบ้านอยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำเครื่องสูบน้ำขนาดใหญ่มาช่วยสูบน้ำออก เพราะสูบของชาวบ้านไม่เพียงพอ ก่อนที่น้ำรอบใหม่จะมา หวั่นว่าจะเป็นการแพร่เชื้อโรคหากต้องอยู่ท่ามกลางน้ำที่เน่าเสีย

ต่อมาทางสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยฯ สำนักงานชลประทาน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมกันลงพื้นที่แก้ปัญหาน้ำท่วมขังในเขตพื้นที่อำเภอสารภี ควบคู่กับการติดตั้งเครื่องสูบน้ำ และเครื่องผลักดันน้ำที่บริเวณท้ายน้ำ ทำให้สามารถระบายน้ำที่ท่วมขังออกไปยังแม่น้ำกวงและผันต่อออกไปสู่แม่น้ำปิงในพื้นที่อำเภอสันป่าตองได้เร็วขึ้น เพื่อแก้ปัญหาเบื้องต้น

ระดมกำลัง อส.ช่วยฟื้นฟูแม่สาย
ส่วนที่ อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย ยังคงมีหลายหน่วยงานร่วมกันฟื้นฟูเมืองแม่สาย อย่างกองบัญชาการกองอาสารักษาดินแดน กระทรวงมหาดไทย ได้ระดมกำลังอาสารักษาดินแดน (หรือ อส.) จากทั่วประเทศกว่า 1,000 นาย กระจายกำลังกันเข้าไปในชุมชนต่าง ๆ เช่นชุมชนถ้ำผาจม ชุมชนเกาะทราย ชุมชนไม้ลุงขน และหมู่บ้านปิยะพร ทำความสะอาดบ้านเรือนของประชาชน จัดเก็บขยะ เก็บกวาดดินโคลน ขุดลอกท่อระบายน้ำ

ทั้งนี้การดำเนินกิจกรรมดังกล่าวนี้ จะดำเนินกว่าไปจนกว่าการฟื้นฟูเมืองแม่สายจะแล้วเสร็จ จึงจะแยกย้ายกันกลับ

ขณะที่เทศบาลตำบลแม่สาย เร่งซ่อมพนังกันน้ำที่ทำจากบิกแบ็ก และมีการทำคันกั้นน้ำที่บ้านถ้ำผาจม ตำบลเวียงพางคำ ซึ่งเป็นจุดแรกรับมวลน้ำจากแม่น้ำสายที่ไหลมา รวมถึงเร่งเคลียร์ดินโคลนไปพร้อมกัน โดยทางเทศบาลฯ ให้ชาวบ้านนำดินออกจากบ้านกองไว้ที่ถนน จากนั้นเจ้าหน้าที่จะช่วยนำดินไปทิ้ง

แจ้งเตือนประชาชน อพยพไปอยู่ที่ปลอดภัย
ทางเฟซบุ๊ก เทศบาลตำบลแม่สาย ได้มีการโพสต์แจ้งเตือนประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัย ให้อพยพออกจากที่อยู่อาศัย โดยระบุว่า "ประกาศเตือน" จากการคาดการณ์สภาพอากาศของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในช่วงระหว่างวันที่ 30 กันยายน - 3 ตุลาคม 2567 อาจมีฝนตกหนักถึงหนักมาก ซึ่งมีผลต่อระดับน้ำสายที่จะสูงขึ้น และอาจล้นทะลักเข้าท่วมพื้นที่เสี่ยงภัย ที่เคยประสบเหตุน้ำท่วมอีก

ดังนั้น เพื่อเป็นการป้องกันภัยในเบื้องต้น จึงขอความร่วมมือให้ผู้ที่พักอาศัยในบริเวณพื้นที่เสี่ยงภัยน้ำท่วมได้ออกจากพื้นที่ เพื่อพักอาศัยในพื้นที่ที่ปลอดภัยเช่น บ้านญาติพี่น้อง คนสนิท หรือศูนย์พักพิงตามวัด และศูนย์พักพิง ในชุมชนต่าง ๆ

นอกจากนี้ เมื่อเวลาประมาณ 20.00 น. ทางสมาชิกเพจ ชุมชนคนแม่สาย โพสต์คลิป น้ำในน้ำแม่สาย พร้อมแจ้งเตือนว่า ระดับน้ำในแม่น้ำแม่สายขึ้นอีกแล้ว

เพจ เชียงราย โพสต์ภาพน้ำท่วมถนนทางหลวง หน้ากรมภาษีเมืองท่าขี้เหล็ก ประเทศเมียนมา เวลาประมาณ 18.00 น. เมื่อวานนี้ หลังเกิดฝนตกหนักประมาณ 1 ชั่วโมง พื้นที่ชายแดนไทย-เมียนมา อำเภอแม่สาย อย่างไรก็ตามแม้จะไม่เกิดน้ำท่วมใหญ่เหมือนครั้งก่อน แต่ผู้คนต่างเฝ้าระวัง เนื่องจากเพิ่งผ่านพ้นวิกฤตน้ำท่วมใหญ่มาไม่ถึง 1 เดือน

ขอบคุณภาพจาก Facebook : ชุมชุนคนแม่สาย