ชาวบ้าน ต.ทับผึ้ง จ.สุโขทัย ทนทุกข์ไม่มีน้ำอาบ

View icon 56
วันที่ 1 ต.ค. 2567 | 06.43 น.
เช้านี้ที่หมอชิต
แชร์
เช้านี้ที่หมอชิต - สถานการณ์น้ำท่วมขณะนี้ยังมีหลายพื้นที่น้ำขัง อย่างที่จังหวัดสุโขทัย

ชาวอำเภอศรีสำโรง จังหวัดสุโขทัย ชาวบ้านในหมู่ที่ 6 และหมู่ที่ 9 ของตำบลทัพผึ้ง เริ่มได้รับผลกระทบจากน้ำที่ท่วมสูง ต้องพายเรือออกจากบ้านมารับของบริจาค เนื่องจากบ้านถูกน้ำท่วมขังมาหลายวัน นอกจากนี้ยังเจอปัญหาเรื่องน้ำสะอาดไว้อาบ เนื่องจากท่อน้ำประปาหมู่บ้านแตก

นายสุวิทจักร บุญอ่ำ ชาวบ้าน บ้านท่าช้าง ต.ทัพผึ้ง เล่าถึงเหตุการณ์วันน้ำยมทะลักเข้าท่วมว่ามาเร็วมากข้าวของที่อยู่ชั้นล่างถูกน้ำท่วมเสียหาย แต่บ้านของตนเป็นตึกแถว 2 ชั้น ยังสามารถอาศัยอยู่ที่ชั้น 2 ได้ แต่เริ่มมีปัญหาในเรื่องสุขา และน้ำสะอาดสำหรับชำระร่างกาย เนื่องจากท่อน้ำประปาหมู่บ้านแตก

ลงมาในแม่น้ำเจ้าพระยาที่ไหลผ่านอำเภอสรรพยา จังหวัดชัยนาท ที่มีปริมาณเพิ่มสูงขึ้น จากการระบายน้ำของเขื่อนเจ้าพระยาในอัตรา 1,899 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ติดต่อกันเป็นวันที่ 3 ทำให้น้ำไหลลอดเข้าใต้พนังกั้นน้ำบริเวณหน้าตลาดสรรพยาเข้าท่วมใต้ถุนอาคารผลิตผ้าบาติกของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนสรรพยาบาติก และบ้านเรือนที่อยู่ติดพนังกั้นน้ำ ระดับน้ำท่วมสูงประมาณ 20 เซนติเมตร ชาวบ้านต้องขนย้ายข้าวของขึ้นไปเก็บไว้บนชั้นสองเพื่อป้องกันความเสียหาย

ส่วนที่จังหวัดอ่างทอง หมู่ที่ 3 ตำบลโผงเผง อำเภอป่าโมก เจ้าของฟาร์มนกแก้วมาร์คอว์ และนกสวยงามขนาดเล็ก ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมสูง ต้องหนุนกรงนกขึ้นสูงตามระดับน้ำที่เพิ่มอย่างต่อเนื่อง แต่ยังไม่สามารถย้ายนกแก้วได้ เพราะนกแก้วอยู่ระหว่างการกกไข่ หากย้ายออกนกจะไม่ยอมกกไข่ โดยเจ้าของต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษเพราะเกรงว่าสัตว์มีพิษที่มากับน้ำจะเข้าไปกัดนกแก้วตายได้

ทางนายอำเภอป่าโมก พร้อมเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง มีการจัดเวรยามเฝ้าระวังดูแลสถานการณ์น้ำที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตลอด 24 ชั่วโมง และวานนี้พบว่าบริเวณรอยต่อ หมู่ 6 กับหมู่ 5 ตำบลโผงเผง แนวป้องกันเดิมเริ่มมีการทรุดตัว ทำให้น้ำไหลซึมเข้าท่วมพื้นที่

ทางผู้ว่าราชการจังหวัดอ่างทอง ได้อนุมัติงบประมาณระงับยับยั้งภัยพิบัติเป็นการเร่งด่วน นำเครื่องจักรกลเร่งทำแนวป้องกันน้ำท่วม เพราะหากแนวป้องกันบริเวณนี้พัง จะส่งผลกระทบชาวบ้านในพื้นที่หมู่ 5 และหมู่ 6 ประมาณ 500 หลังคาเรือน

ที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา น้ำท่วมยังคงขยายวงกว้าง หลังได้รับผลกระทบจากการระบายน้ำท้ายเขื่อนเจ้าพระยา โดยพื้นที่ลุ่มต่ำถูกน้ำท่วมสูงกว่า 2 เมตร ซึ่งชาวบ้านชุมชนวัดตะกู อำเภอบางบาล ได้รับผลกระทบจากแม่น้ำน้อย ล้นตลิ่งเข้าท่วมชุมชนเพียง 2 คืน สูงกว่า 2 เมตร เจ้าหน้าที่ต้องเร่งช่วยเหลือ

ขณะที่ ชุมชนหัวแหลม ตำบลท่าวาสุกรี น้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาล้นตลิ่งเข้าท่วมพื้นบ้านที่ปลูกอาศัยริมแม่น้ำ ริมคลองเมือง หลายสิบหลังคาเรือนเป็นระลอกที่ 2 แล้ว แต่ครั้งนี้ปริมาณน้ำสูงกว่าที่ผ่านมา

นายไชยา เนตรทิพย์ ชาวบ้านชุมชนหัวแหลม เล่าว่า ชุมชนหัวแหลมเป็นชุมชนแรกในเกาะเมืองที่ได้รับผลกระทบน้ำท่วม น้ำท่วมทุกปี มาปีนี้ท่วมไปแล้ว 1 รอบ น้ำลดลงได้เพียงสัปดาห์ ก็กลับมาท่วมอีกครั้ง และท่วมมากกว่าเดิม ไม่มีทีท่าว่าจะลด มีแต่จะขึ้นเรื่อย ๆ ตอนนี้ที่บ้านต้องใช้เรือแล้ว

ทั้งนี้ ทางสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ประกาศเฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน และน้ำล้นตลิ่ง ช่วงวันที่ 30 กันยายน - 3 ตุลาคม 2567 จำนวน 32 จังหวัด