วันที่ 3 ของการรักษา น้อง 7 ขวบ และ 9 ขวบ ยังต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ

วันที่ 3 ของการรักษา น้อง 7 ขวบ และ 9 ขวบ ยังต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ

View icon 43
วันที่ 4 ต.ค. 2567 | 14.48 น.
ข่าวออนไลน์7HD
แชร์
วันที่ 3 ของการรักษา อัปเดตการรักษาน้อง 7 ขวบ ทางเดินหายใจบวมลดลง ส่วนน้อง 9 ขวบ กระบวนการอักเสบลดลง ทั้ง 2 คน ยังต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ เริ่มรับอาหารทางการแพทย์ผ่านสายให้อาหารทางจมูก

อัปเดตการรักษาเด็กนักเรียนบาดเจ็บในเหตุไฟไหม้รถบัส วันนี้ (4 ต.ค.67) โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ ออกแถลงการณ์ผลการรักษาพยาบาลเป็นวันที่ 3 ซึ่งแพทย์ได้ประเมินอาการและให้การรักษาดังนี้
รายที่ 1 เด็กหญิงอายุ 7 ขวบ แพทย์ประเมินแล้วว่า ร่างกายถูกไฟไหม้บริเวณใบหน้า และลำตัว แผลไหม้ ระดับที่ 2 ทั้งหมดประมาณ 13% สัญญาณชีพปกติ หยุดการให้ยากระตุ้นความดันโลหิต ผู้ป่วยหายใจผ่านท่อช่วยหายใจโดยการใช้เครื่องช่วยหายใจ สามารถลดการช่วยเหลือจากเครื่องช่วยหายใจ ให้ยาแก้ปวด และให้ยานอนหลับต่อเนื่อง ปัสสาวะออกปกติ เริ่มรับอาหารทางการแพทย์ผ่านสายให้อาหารทางจมูกได้

ผู้ป่วยได้รับการประเมินทางเดินหายใจด้วยการส่องกล้องทางเดินหายใจโดยกุมารแพทย์ด้านระบบทางเดินหายใจ พบทางเดินหายใจบวมลดลง ใช้อุปกรณ์บีบคลายขาทั้ง 2 ข้าง เพื่อป้องกันลิ่มเลือดในหลอดเลือดดำส่วนลึกอุดตัน แผลดี ปากบวมลดลง ไม่พบการติดเชื้อของแผล และยังคงต้องทำความสะอาดแผลและป้ายยาต้านจุลชีพวันละครั้ง ทีมแพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟูใช้เฝือกร่วมกับอุปกรณ์ประคองมือและแขนสูง เพื่อช่วยลดบวม และมีแผนใส่อุปกรณ์รัดลดแผลเป็นในลำดับถัดไป เปลือกตาและเยื่อตายุบบวมลง สามารถหลับตาลืมตาพอได้ เยื่อหุ้มรก และ eye corneal shield อยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสม ทั้ง 2 ข้าง

รายที่ 2 เด็กหญิงอายุ 9 ขวบ แพทย์ประเมินแล้วว่า ร่างกายถูกไฟไหม้บริเวณใบหน้า คอ แขน และมือ ทั้ง 2 ข้าง แผลไหม้ระดับที่สอง ทั้งหมดประมาณ 30% สัญญาณชีพปกติ แต่ยังคงต้องใส่ท่อช่วยหายใจ สามารถลดการช่วยเหลือจากเครื่องช่วยหายใจได้ เริ่มรับอาหารทางการแพทย์ผ่านสายให้อาหารทางจมูกได้  ให้ยาแก้ปวด และให้ยานอนหลับต่อเนื่อง สามารถลดการให้สารน้ำและเกลือแร่ทดแทนเข้าทางหลอดเลือดดำได้ โดยประเมินสารน้ำในร่างกายมีภาวะน้ำเกิน เริ่มให้ยาขับปัสสาวะทางหลอดเลือดดำ

บาดแผลบริเวณใบหน้ายุบบวมลง ความดันบริเวณแขนทั้ง 2 ข้างลดลง เนื้อเยื่อผิวหนังดีขึ้น กระบวนการอักเสบลดลง มีการฟื้นฟูของเนื้อเยื่อ ผิวหนัง ทีมแพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟูใช้เฝือกร่วมกับอุปกรณ์ประคองมือและแขนสูง เพื่อช่วยลดบวม ในส่วนของเปลือกตาและเยื่อตายุบบวมลง สามารถหลับตา ลืมตาพอได้ เยื่อหุ้มรก และ eye corneal shield อยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสมทั้ง 2 ข้าง

โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ จะดูแลรักษาผู้ป่วยทั้ง 2 ราย อย่างเต็มที่ โดยทีมแพทย์เฉพาะทาง เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถกลับมาใช้ชีวิตได้อย่างเป็นปกติได้มากที่สุด และขอขอบคุณองค์กรภาครัฐ เอกชน และประชาชนทั่วไป ที่ส่งกำลังใจให้กับผู้ป่วย ครอบครัว ตลอดจนทีมบุคลากรทางการแพทย์

ข่าวที่เกี่ยวข้อง