นายกฯ ขอคนกรุงฯ อย่ากังวล น้ำจะไม่ท่วมรุนแรงเหมือนปี 54

นายกฯ ขอคนกรุงฯ อย่ากังวล น้ำจะไม่ท่วมรุนแรงเหมือนปี 54

View icon 45
วันที่ 8 ต.ค. 2567 | 12.08 น.
ข่าวออนไลน์7HD
แชร์
มติครม. เหมาจ่ายน้ำท่วมครัวเรือนละ 9,000 บาท นายกฯ ขอคนกรุงฯ อย่ากังวล น้ำไม่ท่วมรุนแรงเหมือนปี 54 แน่นอน

นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังประชุม ครม.วันนี้ (8 ต.ค.67) ว่า  ครม.อนุมัติตามที่กระทรวงมหาดไทย เสนอ เรื่องทบทวนหลักเกณฑ์ในการเยียวยาจ่ายเงินช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย โดยเปลี่ยนเป็นการช่วยเหลือแบบเหมาจ่ายอัตราเดียว ครัวเรือนละ 9,000 บาท ภายใต้กรอบวงเงินเดิมตามมติ ครม. 17 ก.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งเงิน 9,000 บาทจะทยอยจ่ายให้ครบ

นายกรัฐมนตรี ระบุ พื้นที่กรุงเทพมหานคร น้ำจะไม่ท่วมรุนแรงเหมือนปี 2554 เพราะแม่น้ำเจ้าพระยายังรับน้ำได้อีกมาก ยังไม่ต้องกังวล เพราะมีการวางแผนจัดการน้ำอย่างเป็นระบบ ได้คุยกับ สทนช. ต่อเนื่อง รวมถึงพื้นที่ท้ายเขื่อนด้วย ดังนั้นการปล่อยน้ำจะพยายามไม่ทำให้กระทบประชาชน ย้ำติดตามเรื่องนี้อย่างต่อเนื่อง และขอบคุณทุกภาคส่วนที่ให้ความร่วมมือในเรื่องอาหารและ ยานพาหนะต่าง ๆ ที่เข้ามาช่วยเหลือประชาชน

ทั้งนี้ จะมีการนัดประชุมคณะกรรมการอำนวยการและบริหารสถานการณ์อุทกภัยวาตภัยและดินโคลนถล่ม หรือ คอส. เพื่อติดตามความคืบหน้าและวางแผนป้องกันเหตุการณ์ลักษณะนี้ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตทั้งระบบและพูดคุยเรื่องการวางแผนทั้งระยะเร่งด่วนและระยะยาวในวันอังคารหน้า (15 ต.ค.) ซึ่งจะให้คณะกรรมการและผู้ที่เกี่ยวข้องเข้ามาวางระบบน้ำทั้งระบบของทั้งประเทศ

นางสาวธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี อนุมัติเงินเยียวยาเป็นจำนวนเงิน 9,000 บาท โดยไม่มีหลักเกณฑ์ ส่วนผู้ประสบภัยที่ได้รับเงินเยียวยาไปแล้ว 5,000 บาท ก็จะได้รับเงินเพิ่มอีก 4,000 บาท เพื่อให้ครบกับหลักเกณฑ์ 9,000 บาท ที่รัฐบาลวางแนวทางไว้

ส่วนการจ่ายเงินเยียวยาสามารถจจ่ายได้ทันที โดยใช้ข้อมูลที่ประชาชนมาลงทะเบียนไว้ของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณะภัย (ปภ.) กระทรวงมหาดไทย ทั้งนี้ เงินเยียวยา 9,000 บาท ไม่รวมกับค่าซ่อมบ้าน หากบ้านถูกน้ำท่วมพังเสียหายทั้งหลัง 2.3 แสนบาทต่อครัวเรือน

น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล โฆษกกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า ข้อมูล ณ วันที่ 3 ต.ค. 67 พบว่า มีประชาชนยื่นคำร้องขอรับเงินช่วยเหลือฯ แล้ว ในพื้นที่ 50 จังหวัด รวม 67,296 ครัวเรือน จากพื้นที่อุทกภัยในฤดูฝนปี 2567 ทั้งหมด 57 จังหวัด  และมีบางส่วนที่กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย(ปภ.) ได้ส่งบัญชีรายชื่อครัวเรือนที่ขอรับความช่วยเหลือ ให้ธนาคารออมสินและได้โอนจ่ายเงินให้แก่ผู้ประสบภัย ในพื้นที่จังหวัดเชียงราย และจังหวัดเชียงใหม่ แล้วรวมจำนวน 6,363 ครัวเรือน เป็นเงิน 31,857,000 บาท ซึ่งกลุ่มนี้ทั้งหมดเป็นผู้ได้รับโอนเงินช่วยเหลือ 5,000 บาท ซึ่งจะต้องโอนเงินช่วยเหลือเพิ่มเติมให้ครบ 9,000 บาทต่อไป  

อย่างไรก็ตาม สำหรับขอบเขตพื้นที่ให้การช่วยเหลือนั้นยังคงเดิมคือ จังหวัดที่มีพื้นที่ได้รับผลกระทบ/ พื้นที่ประกาศเขตพื้นที่ประสบสาธารณภัย/พื้นที่ประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติ กรณีฉุกเฉิน จำนวน 57 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดกระบี่ กาญจนบุรี กาฬสินธ์ กำแพงเพชร ขอนแก่น จันทบุรี ฉะเชิงเทรา ชัยภูมิ ชลบุรี เชียงราย เชียงใหม่ ตรัง ตราด ตาก นนทบุรี นครนายก นครปฐม นครพนม นครสวรรค์ นครราชสีมา นครศรีธรรมราช น่าน บึงกาฬ ปราจีนบุรี พระนครศรีอยธยา พังงา พะเยา พิจิตรพิษณุโลก เพชรบูรณ์ แพร่ ภูเก็ต มหาสารคาม มุกดาหาร แม่ฮ่องสอน ยะลา ระยอง ราชบุรี ร้อยเอ็ด ลำปาง ลำพูน เลย ศรีสะเกษ สกลนคร สตูล สระแก้ว สระบุรี สุโขทัย สุพรรณบุรี สุราษฎร์ธานี หนองคาย หนองบัวลำภู อ่างทอง อุทัยธานี อุดรธานี อุตรดิตถ์ และจังหวัดอุบลราชธานี  ครอบคลุมครัวเรือนผู้ประสบภัย จำนวน 338,391 ครัวเรือน

"สถานการณ์อุทกภัยที่เกิดขึ้นในครั้งนี้มีความรุนแรง ก่อให้เกิดความเสียหายกับประชาชนผู้ประสบภัยเป็นจำนวนมาก ขณะที่การช่วยเหลือตามหลักเกณฑ์ที่ ครม. ได้อนุมัติไปเมื่อวันที่ 17 ก.ย. 67 นั้น ได้กำหนดระยะเวลาประกอบการช่วยเหลือค่อนข้างนาน ทำให้การช่วยเหลือล่าช้า ไม่ทันต่อการกลับมาดำรงชีวิตตามปกติ ประกอบกับปัญหาเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มการฟื้นตัวอย่างช้า ๆ ส่งผลให้ผู้ประสบภัยเกิดภาวะยากลำบากมากขึ้น ดังนั้น เพื่อให้ผู้ประสบภัยได้รับ ความช่วยเหลืออย่างรวดเร็ว เหมาะสมกับภาวะค่าครองชีพที่สูงขึ้น และสามารถกลับมาใช้ชีวิตได้ปกติโดยเร็ว จึงต้องมีการทบทวนหลักเกณฑ์การจ่ายเงินดังกล่าว" น.ส.ไตรศุลี กล่าว

สำหรับอัตราการจ่ายเงินช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในช่วงฤดูฝน ปี 2567 เดิม ที่ได้รับอนุมัติจาก ครม. เมื่อวันที่ 17 ก.ย. 67 นั้นมี 3 อัตรา ได้แก่ 1.กรณีที่อยู่อาศัยประจำอยู่ในพื้นที่น้ำท่วมขัง ติดต่อต่อกันตั้งแต่ 1 วัน (24 ชั่วโมง) แต่ไม่เกิน 7 วัน และทรัพย์สินได้รับความเสียหาย หรือที่อยู่อาศัยประจำถูกนำท่วมขังเกินกว่า 7วัน แต่ไม่ไม่เกิน 30 วัน ให้ความช่วยเหลือ ครัวเรือนละ 5,000 บาท 2. กรณีที่พักอาศัยอยู่ในพื้นที่น้ำท่วมขัง ติดต่อกันเกินกว่า 30 วัน แต่ไม่เกิน 60 วัน ให้ความช่วยเหลือ ครัวเรือนละ 7,000 บาท และ 3)กรณีที่พักอาศัยอยู่ในพื้นที่น้ำท่วมขัง ติดต่อกับกันกว่า 60 ขึ้นไป ให้ความช่วยเหลือ ครัวเรือนละ 9,000 บาท

ข่าวที่เกี่ยวข้อง