ชาย 65 ปี กินลาบหมูดิบ ก่อนป่วยเป็นโรคไข้หูดับ เสียชีวิต

ชาย 65 ปี กินลาบหมูดิบ ก่อนป่วยเป็นโรคไข้หูดับ เสียชีวิต

View icon 129
วันที่ 10 ต.ค. 2567 | 17.04 น.
ข่าวออนไลน์7HD
แชร์
โรงพยาบาลน่าน ย้ำควรกินอาหารปรุงสุก! หลังชายวัย 65 ปี ป่วยโรคไข้หูดับ จนเสียชีวิต พบประวัติกินลาบหมูดิบ ก่อนเริ่มมีอาการล้มป่วย

10 ต.ค. 67 นพ.วสันต์ แก้ววี ผู้อำนวยการ รพ.น่าน แจ้งเตือนภัยประชาชนชื่นชอบนิยมกินลาบหมูดิบ เสี่ยงเป็น “โรคไข้หูดับ” อันตรายถึงชีวิต ซึ่งล่าสุดจังหวัดน่าน มีผู้เสียชีวิตแล้ว 1 คน โดยผู้ป่วยรายนี้เป็นชาย อายุ 65 ปี เข้ารักษา เมื่อวันที่ 30 ก.ย. 67 รพ.น่าน รับผู้ป่วยเพศชาย อายุ 65 ปี มีอาการแน่นท้อง ร้าวขึ้นอก มีถ่ายเหลวเป็นน้ำ เข้ารับการรักษา

จากการสอบสวนโรค ทราบว่าประมาณ 1-2 สัปดาห์ก่อนป่วย มีประวัติรับประทานลาบหมูดิบ จากนั้นมีอาการไม่สบาย วันที่ 26 ต.ค. 67 ไปรับการตรวจรักษาที่คลินิกแห่งหนึ่ง แต่อาการไม่ทุเลา จึงมาตรวจรักษาที่ รพ. จากนั้นผู้ป่วยมีอาการรุนแรงขึ้น ผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการ พบเชื้อแบคทีเรีย Streptococcus Suis ซึ่งเป็นสาเหตุของ “โรคไข้หูดับ” ได้รักษาตัวที่หอผู้ป่วยหนัก (ICU.) และเสียชีวิตในเวลาต่อมา (วันที่ 9 ต.ค. 67 )

จากกรณีดังกล่าวจึงขอแจ้งเตือนพี่น้องประชาชน ให้ระมัดระวังการติดเชื้อแบคทีเรีย Streptococcus Suis ซึ่งเป็นสาเหตุของ “โรคไข้หูดับ” ซึ่งพบอยู่ในทางเดินหายใจ และในเลือดของหมูที่กำลังป่วย สามารถติดต่อสู่คนได้จากการสัมผัสโดยตรงกับหมูที่ติดเชื้อ ทั้งเนื้อหมู เครื่องใน และเลือดหมูที่เป็นโรค ผ่านทางบาดแผล รอยถลอก เยื่อบุตา และการรับประทานเนื้อหมู หรือเลือดของหมูที่ปรุงสุก ๆ ดิบ ๆ

อาการของโรค มักมีอาการไข้สูง ปวดเมื่อยตามตัว ปวดศีรษะ เวียนศีรษะ ปวดตามข้อ มีจ้ำเลือดตามตัวและตามผิวหนัง ซึม คอแข็ง ชัก เชื้อสามารถลุกลามไปยังบริเวณปลายประสาทรับเสียง และปลายประสาททรงตัว เมื่อเชื้อเข้าสู่เยื่อหุ้มสมอง ทําให้เยื่อหุ้มสมองอักเสบ และการติดเชื้อในกระแสเลือด (Sepsis) ซึ่งสามารถทำให้เกิดการสูญเสียทางการได้ยิน จนถึงหูหนวกถาวร หรือเสียชีวิต

การป้องกัน “โรคไข้หูดับ” มีวิธีและแนวทางในการป้องกัน ดังนี้

1.ปรุงเนื้อหมูให้สุกทั่วถึง หลีกเลี่ยงการบริโภคเนื้อหมู และผลิตภัณฑ์จากหมูที่ดิบ หรือสุก ๆ  ดิบ ๆ เช่น ลาบ หลู้ หมูหมักดิบ ก้อยหมู
2.แยกอุปกรณ์ที่ใช้รับประทานอาหาร เช่น ตะเกียบ ช้อนส้อม ที่ใช้กับหมูไม่สุกและหมูสุก
3.เลือกบริโภคเนื้อหมูที่มาจากแหล่งผลิตที่ได้มาตรฐาน ปลอดจากเชื้อโรค
4.ล้างมือให้สะอาดด้วยน้ำสบู่ ก่อนและหลังสัมผัสเนื้อหมู
5.หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับหมูที่ป่วยหรือตาย หากจำเป็นต้องสัมผัส ควรสวมถุงมือและหน้ากากอนามัย
6.เลิกกินอาหารที่ทำจากหมูที่ดิบ หรือสุก ๆ ดิบ ๆ เป็นตัวอย่างที่ดีให้กับคนรุ่นใหม่ต่อไป

ข่าวที่เกี่ยวข้อง