โฆษก ศปช. เตือน 21 จังหวัด เสี่ยงสูงฝนตกหนัก เตรียมรับมือสถานการณ์น้ำ แจงน้ำท่วมขัง ลำพูน เป็นจุดรับน้ำ สั่ง เจ้าหน้าที่เข้าพื้นที่แก้ปัญหา ตั้งเครื่องสูบน้ำ ผลักดันน้ำ ใช้น้ำหมักชีวภาพ คาด 15 ต.ค.นี้คลี่คลาย
วันนี้ (13 ต.ค.67) นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม หรือ ศปช. และ ศปช. ส่วนหน้า เปิดเผยว่า จากปริมาณฝนและปริมาณน้ำที่ไหลผ่านเหนือเขื่อนเจ้าพระยา จ.ชัยนาท มีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง ปริมาณน้ำไหลผ่านแม่น้ำเจ้าพระยาสถานี C.2 จ.นครสวรรค์ 2,184 ลบ.ม./วินาที และการระบายน้ำวันนี้อยู่ที่ 1,900ลบ.ม./วินาที โดยที่ประชุม ศปช. วันนี้ให้ปรับลดการระบายน้ำเขื่อนเจ้าพระยาลงอีกจนเหลือแค่ 1,850 ลบ.ม./วินาที เพื่อให้การบริหารจัดการน้ำท้ายเขื่อนไม่เกิดปัญหากับประชาชน ทั้งในกรุงเทพฯ และปริมณฑล มากนัก และเป็นไปอย่างเหมาะสม สอดคล้องกับสถานการณ์น้ำฝน และน้ำทะเลที่จะขึ้นหนุนช่วงวันที่ 13 – 24 ต.ค. นี้
ส่วนพื้นที่ภาคใต้ ยังมีฝนตกหนักในหลายพื้นที่ ศปช.ขอให้ประชาชนที่อยู่ใน 9 จังหวัด พื้นที่เสี่ยงสูงมากเฝ้าระวังและติดตามข่าวสารอย่างใกล้ชิด ได้แก่ 1. จ.พังงา (อ.ตะกั่วทุ่ง คุระบุรี กะปง ท้ายเหมือง เมืองพังงา ทับปุด เกาะยาว ตะกั่วป่า) 2. จ.ภูเก็ต (ถลาง เมืองภูเก็ต กะทู้) 3.จ.กระบี่ (อ่าวลึก เกาะลันตา ปลายพระยา คลองท่อม เหนือคลอง เมืองกระบี่ เขาพนม ลำทับ) 4.สุราษฎร์ธานี (บ้านตาขุน บ้านนาสาร บ้านนาเดิม กาญจนดิษฐ์ ดอนสัก ท่าชนะ เวียงสระ เมืองสุราษฎร์ธานี วิภาวดี ไชยา เกาะสมุย คีรีรัฐนิคม พนม ท่าฉาง พระแสง) 5.ตรัง (เมืองตรัง กันตัง ย่านตาขาว ปะเหลียน สิเกา ห้วยยอด วังวิเศษ นาโยง รัษฎา) 6.ยะลา (เมืองยะลา เบตง ยะหา บันนังสตา ธารโต กาบัง รามัน กรงปินัง) 7.นราธิวาส (เมืองนราธิวาส บาเจาะ ยี่งอ ระแงะ รือเสาะ ศรีสาคร สุไหงปาดี เจาะไอร้อง จะแนะ สุคิริน แว้ง) 8.ปัตตานี (โคกโพธิ์ หนองจิก แม่ลาน ปะนาเระ มายอ ทุ่งยางแดง สายบุรี ยะรัง กะพ้อ) 9.พัทลุง (เมืองพัทลุง กงหรา ศรีบรรพต ศรีนครินทร์ เขาชัยสน ตะโหมด ควนขนุน ป่าบอน ป่าพะยอม)
สำหรับพื้นที่เสี่ยง 12 จังหวัดที่ต้องเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์ ได้แก่ 1. จ.ระนอง (อ.สุขสำราญ กะเปอร์ ละอุ่น เมืองระนอง กระบุรี) 2. นครศรีธรรมราช (อ.ฉวาง พิปูน ท่าศาลา ลานสกา ช้างกลางเชียรใหญ่ เมืองนครศรีธรรมราช ปากพนัง พรหมคีรี เฉลิมพระเกียรติ ร่อนพิบูลย์ หัวไทร ทุ่งสง ทุ่งใหญ่ สิชล ขนอม นาบอน นบพิตำ) 3. จ.สงขลา (เมืองสงขลา จะนะ นาทวี เทพา สะบ้าย้อย สะเดา ระโนด รัตภูมิ หาดใหญ่ นาหม่อน คลองหอยโข่ง) 4. จ.สตูล (เมืองสตูล ควนโดน ควนกาหลง ละงู ทุ่งหว้า มะนัง)
ส่วนพื้นที่ภาคกลาง และภาคตะวันออก และภาคใต้ตอนบน ยังมีความจำเป็นต้องเฝ้าระวัง เช่น 5.จ.กาญจนบุรี (อ.เมือง เลาขวัญ บ่อพลอย หนองปรือ พนมทวน ท่ามะกา ท่าม่วง ด่านมะขามเตี้ย ห้วยระเจา) 6. จ.เพชรบุรี 7. จ.ประจวบคีรีขันธ์ 8. จ.ชุมพร (สวี ละแม เมืองชุมพร ท่าแซะ ปะทิว พะโต๊ะ ทุ่งตะโก) 9. จ.จันทบุรี (ขลุง) 10. จ.ระยอง 11. จ.ตราด และ 12. จ.ชลบุรี
ศปช.ขอให้ประชาชนเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์น้ำ รวมทั้งติดตามข่าวสารการแจ้งเตือนล่วงหน้าของหน่วยงานราชการแก่ประชาชนในพื้นที่เสี่ยง หากต้องการความช่วยเหลือโทรสายด่วนได้ที่ 1567 ตลอด 24 ชม. นอกจากนี้ ที่ประชุม ศปช. เตรียมความพร้อมในการพร่องน้ำในอ่างเก็บน้ำในพื้นที่ภาคใต้ที่มีปริมาณความจุเกิน 80% เพื่อรองรับปริมาณฝนที่จะเติมเข้ามา รวมทั้ง สั่งการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจสอบความแข็งแรงของอ่างเก็บน้ำในพื้นที่ และกำจัดวัชพืชและสิ่งกีดขวางทางน้ำเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำ ตลอดจนประสานอ่างเก็บน้ำท้องถิ่นเพื่อบริหารจัดการการระบายน้ำในพื้นที่
ส่วนกรณีสื่อออนไลน์นำเสนอข่าวน้ำท่วมขังและน้ำมีกลิ่นเหม็น ที่บ้านหลุก อ.เมืองลำพูน นั้น ศปช. เร่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องลงพื้นที่แก้ไขปัญหา 3 จุดแล้ว ได้แก่ สวนกาญจนาภิเษก ต.เหมืองง่า ซึ่งเป็นพื้นที่รับน้ำที่มีประชาชนบางส่วนเข้าไปอยู่อาศัย เป็นจุดรับน้ำ และจะผันน้ำลงลำเหมืองหลิ่งห้า มีสภาพที่ตื้นเขิน คับแคบ ประกอบกับมีอาคารบังคับน้ำเก่ากีดขวาง ทำให้ระบายน้ำไม่สะดวก เจ้าหน้าที่ติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำ 1 เครื่อง เครื่องสูบน้ำ 12 นิ้ว 2 เครื่อง และเครื่องสูบซิ่ง 2 เครื่องเพื่อเร่งระบายน้ำ
ส่วนหลังเทศบาลตำบลเหมืองง่า (เก่า) คือ ลำเหมืองหลิ่งห้า จะรับน้ำต่อจากสวนกาญจนาภิเษก มีลักษณะของสะพานที่แคบ จึงได้มีการติดตั้งเครื่องสูบน้ำขนาด 42 นิ้ว 1 เครื่อง เพื่อผลักดันน้ำก่อนไปจุดที่ 3 โดยต้องผ่านอาคารฝายเก่า ทำให้ระบายน้ำได้น้อยมาก ซึ่ง อบจ.ลำพูน ได้ร่วมกับชลประทานจังหวัด ดำเนินการขุดร่องชักน้ำด้านข้างอาคารเพิ่มเติม เพื่อเร่งระบายน้ำจุดนี้อย่างเร่งด่วน ส่วนจุดอื่น ๆ ยังคงระบายน้ำได้ดี และไม่มีผลกับการระบายน้ำทั้ง 3 จุด ข้างต้น
ทั้งนี้ นายจิรายุ ระบุว่า จังหวัดบูรณาการทำงานทุกภาคส่วน เพื่อเร่งแก้ไขปัญหาน้ำท่วมและน้ำท่วมขังออกจากพื้นที่โดยเร็วที่สุด โดยได้มีการติดตั้งเครื่องสูบน้ำจำนวน 74 ตัว อีกทั้งยังขอรับการสนับสนุนเรือผลักดันน้ำจากกองทัพเรือจำนวน 20 ลำ และติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำจำนวน 6 ตัว นอกจากนี้ ทสจ.ลำพูน ร่วมกับสำนักงานสิ่งแวดล้อมและควบคุมมลพิษที่ 1 เชียงใหม่ ดำเนินการแจกจ่ายน้ำหมักชีวภาพให้กับชุมชน ต.ริมปิง ต.หนองช้างคืน ต.เหมืองง่า อ.เมือง จ.ลำพูน จำนวน 200 ลิตร เพื่อลดผลกระทบแก่ประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อน และคาดว่าสถานการณ์จะดีขึ้นและกลับเข้าสู่ภาวะปกติ ภายในวันที่ 15 ต.ค. นี้ และ ทสจ.ลำพูน ร่วมกับสถานีพัฒนาที่ดินจังหวัดลำพูน นำน้ำหมักชีวภาพและสารเร่งซุปเปอร์ พด.6 เพื่อใช้บรรเทาความเดือดร้อนจากน้ำท่วมขังในพื้นที่ ต.อุโมงค์ อ.เมือง จ.ลำพูน การลงไปช่วยเหลือของหน่วยงานต่าง ๆ คาดว่าจะคลี่คลายเข้าสู่ภาวะปกติในเวลาไม่นานนี้