เวลา 12.56 น. วันนี้ สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี ทรงบรรยายพิเศษ เรื่อง การเกิดโรคมะเร็ง Oncogenesis พระราชทานแก่นักศึกษาแพทย์ ชั้นปีที่ 3 คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ประจำปีการศึกษา 2567 ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ณ อาคารศูนย์การแพทย์มะเร็งวิทยาจุฬาภรณ์ โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ เป็นวันที่สอง
โดยวันนี้ ทรงบรรยายพิเศษ 2 หัวข้อ คือ "อองโคยีน หรือ ยีนมะเร็ง กับการควบคุมการเจริญของเซลล์" และเรื่อง "ยีนยับยั้งการเกิดมะเร็ง" ซึ่งอองโคยีน ทำหน้าที่ส่งสัญญาณให้เซลล์เจริญเติบโตและแบ่งตัวอย่างปกติ ท้้งยังทำให้เซลล์เจริญเติบโตและแบ่งตัวอย่างรวดเร็วและไม่สามารถควบคุมได้ ส่วนยีนยับยั้งการเกิดมะเร็ง เป็นยีนปกติที่ช่วยซ่อมแซมดีเอ็นเอที่เสียหายและชะลอการแบ่งตัวของเซลล์ คอยตรวจจับยีนก่อมะเร็ง เพื่อไม่ให้กลายพันธุ์เป็นมะเร็ง เมื่อยีนเหล่านี้ไม่สามารถทำงานได้ตามปกติ เซลล์ก็จะแบ่งตัวอย่างไม่หยุดยั้งและนำไปสู่การเป็นมะเร็งในที่สุด
โรคมะเร็ง เกิดได้จากการกลายพันธุ์ของเซลล์ที่แบ่งตัว แล้วเจริญอย่างรวดเร็วไม่สามารถควบคุมได้ และเกิดจากไวรัสที่แทรกแซงเข้าไปในเซลล์ แล้วเข้าควบคุมการทำงานของยีนในเซลล์ปกติ จากการศึกษาวิจัยในระดับโมเลกุล พบว่ายีนของไวรัสเมื่อเข้าควบคุมแล้วจะเกิดการกลายพันธุ์ของยีน, การย้ายตำแหน่งของโครโมโซม และการเพิ่มจำนวนของยีนอย่างรวดเร็ว ปกติ เซลล์จะถูกควบคุมโดยกลุ่มของโปรตีน ให้มีการแบ่งตัวในอัตราที่เหมาะสม แต่หากเซลล์ผิดปกติ จะเกิดกระบวนการต่อต้านการเกิดมะเร็งด้วยการทำลายตัวเองแบบอัตโนมัติ
นอกจากยีนก่อมะเร็งแล้ว ยังทรงบรรยายถึงยีนยับยั้งการเกิดมะเร็ง ซึ่งทำหน้าที่ควบคุมการเจริญเติบโตของเซลล์ในหลายลักษณะ โดยจะสร้างโปรตีนที่มีหน้าที่ในการยับยั้งการเจริญของเซลล์ไม่ให้มีปริมาณมากเกินไป และมีบทบาทในการควบคุมการตายของเซลล์เมื่อเซลล์สิ้นอายุขัย หรือ เมื่อมีความผิดปกติของ ดีเอ็นเอ หรือ โครโมโซม ซึ่งไม่สามารถซ่อมแซมได้ เมื่อยีนเหล่านี้เกิดความผิดปกติ เช่น การกลายพันธุ์ หรือ สูญหายไปจากเซลล์ ทำให้ไม่สามารถทำหน้าที่ในการยับยั้ง หรือ ควบคุมการเจริญเติบโตของเซลล์ เซลล์จึงจะมีการเพิ่มจำนวนอย่างไม่หยุดยั้ง และทำให้เกิดมะเร็งในที่สุด ซึ่งยีนต้านมะเร็งนั้นมีหลายชนิดและทำหน้าที่ในการยับยั้งการเจริญเติบโตของมะเร็งต่างกัน เช่น ยีน p53 ทำหน้าที่สร้างโปรตีนจำเพาะ ผ่านกระบวนการที่ซับซ้อน และเป็นกลไกตรวจจับเซลล์ที่ผิดปกติทางพันธุกรรม เป็นยีนที่มีความสำคัญ และมีการศึกษากันอย่างกว้างขวางในผู้ป่วยโรคมะเร็งหลอดอาหาร และมะเร็งลำไส้
ทั้งนี้ ทรงสรุปและเปรียบเทียบเรื่องที่ทรงบรรยายเพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ชัดเจนมากขึ้น ซึ่งจะเป็นพื้นฐานสำคัญที่นำไปสู่การพัฒนาวิธีการวินิจฉัยโรคมะเร็งในระดับโมเลกุล การพัฒนายา, การรักษาในแนวใหม่ที่จะตรงกับลักษณะของโรค เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพที่ดีขึ้น