รวบอดีตเภสัชกรคุมคลังยา ลอบนำยาแก้หวัดผสมซูโดอีเฟดรีนออกจากโรงพยาบาล  2 แสนเม็ด

รวบอดีตเภสัชกรคุมคลังยา ลอบนำยาแก้หวัดผสมซูโดอีเฟดรีนออกจากโรงพยาบาล 2 แสนเม็ด

View icon 174
วันที่ 18 ต.ค. 2567 | 16.43 น.
ข่าวออนไลน์7HD
แชร์
สืบ ป.ป.ช. ภาค 4 รวบอดีตเภสัชกรคุมคลังยา ลอบนำยาแก้หวัดผสมซูโดอีเฟดรีนออกจากโรงพยาบาล  2 แสนเม็ด มูลค่าความเสียหาย 3 .8 แสนลาท เจ้าตัวรับสารภาพ ขอเริ่มต้นใหม่ ไม่อยากหนีตลอดชีวิต

วันนี้ (18 ต.ค.67) นายสาโรจน์ พึงรำพรรณ รองเลขาธิการฯ รักษาราชการแทนเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป ช. และนายประทีป จูฑะศร รองเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. ภาค 4 มอบหมายนักสืบสวนคดีทุจริต สำนักงาน ป.ป.ช. ภาค 4 ลงพื้นที่จับกุม นายศักดิ์โกสินทร์ บุคคลตามหมายจับของศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 4 ที่ 29/2564 ลงวันที่ 30 ธ.ค.64 ซึ่งต้องหาว่ากระทำความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่ซื้อ ทำ จัดการ หรือรักษาทรัพย์ใด เบียดบัง เอาทรัพย์นั้นเป็นของตนหรือเป็นของผู้อื่นโดยทุจริต หรือโดยทุจริตยอมให้ผู้อื่นเอาทรัพย์นั้นเสีย ฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ฐานปลอมเอกสารราชการ และฐานใช้หรืออ้างเอกสารราชการปลอม

โดย นายศักดิ์โกสินทร์ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งเภสัชกรปฏิบัติการ ปฏิบัติหน้าที่ประจำโรงพยาบาลแห่งหนึ่งในจังหวัดหนองบัวลำภู เมื่อปี 2554-2555 มีหน้าที่ควบคุมคลังเวชภัณฑ์ยาและขออนุมัติสั่งซื้อยา ได้ลักลอบนำยาที่มีส่วนผสมของสารซูโดอีเฟดรีน ออกจากโรงพยาบาล และนำไปไว้ที่ร้านขายยาของตัวเอง เพื่อส่งมอบหรือจำหน่ายให้กับบุคคลอื่นโดยทุจริต จำนวน 4 ครั้ง ได้แก่ ครั้งที่ 1 เมื่อเดือนส.ค.54 จำนวน 25,000 เม็ด มูลค่า 50,000 บาท ครั้งที่ 2 เมื่อเดือนต.ค.54 จำนวน 25,000 เม็ด มูลค่า 50,000 บาท ครั้งที่ 3 เมื่อเดือนม.ค.55 จำนวน 50,000 เม็ด มูลค่า 100,000 บาท และครั้งที่ 4 เมื่อเดือนก.พ.55 จำนวน 100,000 เม็ด มูลค่า 180,000 บาท ซึ่งในครั้งที่ 4 ได้ปลอมลายมือชื่อผู้อำนวยการโรงพยาบาล สั่งซื้อยาจำนวน 100,000 เม็ดดังกล่าว รวมปริมาณยาที่นำออกจากโรงพยาบาลจำนวนทั้งสิ้น 200,000 เม็ด ความเสียหาย 380,000 บาท

จากการสืบสวนทราบว่า ภายหลังเกิดเหตุเมื่อปี 2555 นายศักดิ์โกสินทร์ ถูกดำเนินการทางวินัยจนถูกไล่ออกจากราชการ แต่ยังคงดำเนินกิจการร้านขายยาของตัวเองตามเดิม และได้เปิดกิจการร้านหมูกระทะในเขตพื้นที่อำเภอนาวัง จังหวัดหนองบัวลำภูอีกด้วย จนกระทั่งปี 2560 ได้หลบหนีไปทำงานโรงงานที่ประเทศเกาหลีใต้ โดยทำงานโรงงานแห่งหนึ่งได้ประมาณ 1 ปี หลังจากนั้นได้ลาออกมาทำธุรกิจเกี่ยวกับการค้าขายสินค้าเกาหลีทางออนไลน์ให้กับคนไทยในประเทศเกาหลีใต้ได้ประมาณ 4 ปี

จนกระทั่งเดือน พ.ค. 66 ได้เดินทางกลับมาประเทศไทย นายศักดิ์โกสินทร์ ย้ายจากอำเภอนาวัง จังหวัดหนองบัวลำภู ไปพักอาศัยอยู่ที่อำเภอนากลาง จังหวัดหนองบัวลำภู ลักษณะพักอาศัยอยู่ตามบ้านเช่า และยังคงประกอบอาชีพค้าขายสินค้าเกาหลีทางออนไลน์ตามเดิม จนกระทั่งทราบว่าเมื่อประมาณเดือน ก.ย.67 นายศักดิ์โกสินทร์ ได้ย้ายมาพักอาศัยอยู่ที่บ้านเช่าในตำบลนากลาง อำเภอนากลาง จังหวัดหนองบัวลำภู โดยเปิดเป็นร้านขายสินค้าจำพวกขนมและอาหารเล็ก ๆ น้อย ๆ สำหรับนักเรียน คณะพนักงานเจ้าหน้าที่งานสืบสวนคดีทุจริตภาค 4 สำนักงาน ป.ป.ช.ภาค 4 จึงได้ลงพื้นที่ตรวจสอบบริเวณบ้านเช่าหลังดังกล่าว โดยเฝ้าสังเกตการณ์

จนเวลาประมาณ 13.45 น. พบรถยนต์กระบะคันที่ตรงตามข้อมูลสืบสวนขับเข้าไปจอดที่บ้านหลังดังกล่าว มีบุคคลซึ่งมีลักษณะและรูปพรรณสัณฐานตรงกับนายศักดิ์โกสินทร์ พร้อมชายอีก 1 คน คาดว่าจะเป็นเพื่อนชายคนสนิท ลงจากรถและเดินเข้าไปภายในบ้าน พนักงานเจ้าหน้าที่จึงประสานเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.นากลาง ร่วมเข้าทำการจับกุมตัวในเวลาประมาณ 14.00 น. โดยเจ้าหน้าที่ชุดจับกุมได้แสดงตัวว่าเป็นเจ้าพนักงานแสดงหมายจับและอ่านหมายจับให้ฟัง นายศักดิ์โกสินทร์ รับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกันกับบุคคลตามหมายจับนี้จริง และยังไม่เคยถูกจับตามหมายจับนี้มาก่อน เจ้าหน้าที่ชุดจับกุมจึงได้แจ้งข้อกล่าวหาและแจ้งสิทธิให้ทราบ จากนั้นได้นำตัวไปยัง สภ.นากลาง เพื่อลงบันทึกประจำวันและทำบันทึกจับกุม เก็บลายพิมพ์นิ้วมือเพื่อจัดทำทะเบียนประวัติผู้ถูกกล่าวหา ผู้ถูกจับ รวมทั้งแจ้งการควบคุมตัวไปยังอัยการและฝ่ายปกครองและดำเนินการตาม พรบ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้สูญหาย พ.ศ. 2565 จากนั้นได้ควบคุมตัวนำส่งพนักงานอัยการ สำนักงานคดีปราบปรามการทุจริตภาค 4 เพื่อดำเนินการฟ้องต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 4 ต่อไป

ทั้งนี้ คดีนี้สืบเนื่องจากเมื่อปี 2555 มีรายงานข้อมูลของสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดหนองบัวลำภูว่า มีการตรวจพบการสั่งซื้อและการจ่ายยาแก้หวัดที่ผสมสารซูโดอีเฟดรีนโดยโรงพยาบาลแห่งหนึ่งในอำเภอนากลาง ซึ่งมียอดสั่งซื้อต่อปีสูงผิดปกติ โดยในรอบปี 2553 มียอดการสั่งซื้อจำนวน 80,000 เม็ด ปี 2554 มียอดการสั่งซื้อจำนวน 200,000 เม็ด และปี 2555 มียอดการสั่งซื้อจำนวน 100,000 เม็ด กระทรวงสาธารณสุขจึงสั่งให้ตรวจสอบข้อมูลพบว่า ช่วงระยะเวลาปีงบประมาณ 2553 - 2555 มีการสั่งซื้อยาแก้หวัดที่มีสูตรผสมของสารซูโดอีเฟดรีนในปริมาณมากผิดปกติเกินความจำเป็น โดยไม่มีระบบการควบคุมที่ดีเพียงพอตามมาตรฐานที่ควรจะเป็น โดยมีการสั่งซื้อ 129 ครั้ง จำนวน 7,874,800 เม็ด มูลค่า 12,298,116 บาท ทั้งที่ความต้องการใช้ยาของโรงพยาบาลสุขภาพตำบล (สถานีอนามัยเดิม) จำนวน 28 แห่ง มีความต้องการใช้เพียง 600,000 เม็ด อีกทั้งยังเบิกใช้จริงแค่ประมาณ 350,000 เม็ดเท่านั้น

กระทรวงสาธารณสุขจึงตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงในการสั่งซื้อ และการหายไปของยาแก้หวัดที่ผสมสารซูโดอีเฟดรีนจากระบบโรงพยาบาลรัฐ พบความผิดปกติเกิดขึ้นในโรงพยาบาลของรัฐจำนวน 9 แห่ง ประกอบด้วย โรงพยาบาลอุดรธานี จังหวัดอุดรธานี โรงพยาบาลทองแสนขัน จังหวัดอุตรดิตถ์ โรงพยาบาลนากลาง จังหวัดหนองบัวลำภู โรงพยาบาลเสริมงาม จังหวัดลำปาง โรงพยาบาลภูสิงห์ จังหวัดศรีสะเกษ โรงพยาบาลกมลาไสย จังหวัดกาฬสินธุ์ โรงพยาบาลหนองกี่ จังหวัดบุรีรัมย์ โรงพยาบาลฮอด จังหวัดเชียงใหม่ และ โรงพยาบาลดอยหล่อ จังหวัดเชียงใหม่ และพบมีเจ้าหน้าที่เข้าข่ายกระทำความผิด และได้ดำเนินการทางวินัยโดยมีการเสนอลงโทษทางวินัยกับข้าราชการรวม 23 ราย แบ่งเป็นลงโทษวินัยร้ายแรง 5 ราย วินัยไม่ร้ายแรง 18 ราย และอยู่ระหว่างการสอบวินัยร้ายแรง 1 ราย เป็นระดับผู้อำนวยการโรงพยาบาล สำหรับความผิดวินัยร้ายแรงให้ไล่ออก 5 ราย ระดับเภสัชกร ส่วนการลงโทษทางวินัยไม่ร้ายแรง มีทั้งการหักเงินเดือน การภาคทัณฑ์และการว่ากล่าวตักเตือนเป็นลายลักษณ์อักษร 18 ราย มีทั้งระดับผู้อำนวยการโรงพยาบาล รองผู้อำนวยการโรงพยาบาล นายแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เภสัชกร และเจ้าพนักงาน เภสัชกร

ในขณะที่ทางต้นสังกัดกระทรวงสาธารณสุขได้ลงดาบด้านวินัย ส่วนในทางคดีอาญาเป็นความรับผิดชอบของดีเอสไอ ซึ่งในขณะนั้น (ปี 2555) ดีเอสไอกำลังสืบสวนคดีการลักลอบนำยาแก้หวัดสูตรที่มีสารซูโดอีเฟดรีนเข้าประเทศ และนำออกจากระบบของโรงพยาบาลภายในประเทศ เพื่อส่งไปยังประเทศเพื่อนบ้านทางชายแดน ให้กับขบวนการค้ายาเสพติดนำไปสกัดเป็นสารตั้งต้นยาเสพติดประเภทยาบ้าและยาไอซ์ โดยการสอบสวนของดีเอสไอแยกออกเป็น 2 คดี คือ 1.คดีการลักลอบนำเข้ายาแก้หวัดที่ผสมสารซูโดอีเฟดรีนมาจากต่างประเทศ และ 2. คดีลักลอบนำยาแก้หวัดที่ผสมสารซูโดอีเฟดรีนออกจากระบบรักษาของโรงพยาบาลภายในประเทศ โดยยาแก้หวัดที่ผสมสารซูโดอีเฟดรีนที่นำเข้าประเทศ และนำออกจากระบบของโรงพยาบาลภายในประเทศ รวมกันทั้งหมดคิดเป็นร้อยละแบ่งออกเป็นที่นำเข้ามากถึง 83% ส่วนอีก 17% เป็นการนำออกจากระบบโรงพยาบาลภายในประเทศ

โดยในส่วน 17% ที่เป็นการลักลอบนำออกจากระบบรักษาของโรงพยาบาลนั้น อาจเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการตามกฎหมายอาญา และอยู่ในอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ดีเอสไอจึงได้ส่งสำนวนการสอบสวนไปยังสำนักงาน ป.ป.ช. เมื่อวันที่ 19 มิ.ย.55 เพื่อดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ จึงเป็นที่มาของการดำเนินคดีและจับกุมนายศักดิ์โกสินทร์

ทั้งนี้ นายศักดิ์โกสินทร์รับสารภาพทุกข้อกล่าวหาและเปิดเผยต่อนักสืบสวนคดีทุจริต สำนักงาน ป.ป.ช.ภาค 4 ชุดจับกุมว่ายินดีให้จับกุมเข้าสู่กระบวนการและขั้นตอนตามกฎหมาย เพราะได้ทราบข้อกฎหมายในภายหลังว่า คดีทุจริตไม่นับระยะเวลาในระหว่างหลบหนีเป็นส่วนหนึ่งของอายุความ คดีจึงไม่มีอายุความตนไม่อยากหนีไปทั้งชีวิต และอยากเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมให้เสร็จสิ้น เพื่อเริ่มต้นชีวิตใหม่ต่อไป

หากท่านพบเห็นการทุจริตของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ สามารถแจ้งสำนักงาน ป.ป.ช. ได้ทางโทรศัพท์หมายเลข 1205 เว็บไซต์สำนักงาน ป.ป.ช. www.nacc.go.th หรือสำนักงาน ป.ป.ช. ภาค หรือสำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดทั่วประเทศ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง