ส่อวิกฤต เขื่อนลำตะคอง เส้นเลือดใหญ่หล่อเลี้ยง 5 อำเภอ จ.นครราชสีมา เหลือน้ำใช้เพียง 29% หวั่นน้ำไม่พอตลอดหน้าแล้ง

ส่อวิกฤต เขื่อนลำตะคอง เส้นเลือดใหญ่หล่อเลี้ยง 5 อำเภอ จ.นครราชสีมา เหลือน้ำใช้เพียง 29% หวั่นน้ำไม่พอตลอดหน้าแล้ง

View icon 154
วันที่ 18 ต.ค. 2567 | 17.49 น.
ข่าวออนไลน์7HD
แชร์
วันนี้ (18 ต.ค. 67) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า น้ำในอ่างเก็บน้ำลำตะคอง ที่ อ.สีคิ้ว จ.นครราชสีมา ลดลงอย่างมาก เนื่องจากช่วงฤดูฝนปีนี้ ในพื้นที่ต้นน้ำเหนืออ่างเก็บน้ำลำตจะคองมีฝนตกน้อย จึงมีน้ำฝน-น้ำท่าไหลมาลงอ่างฯต่ำกว่าเกณฑ์ สอดคล้องกับกรมอุตุนิยมวิทยาที่คาดการณ์ว่า ช่วงเดือน ก.ย. ที่ผ่านมา ปริมาณฝนรวมบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือจะต่ำกว่าค่าปกติ 375 มิลลิเมตร อยู่ประมาณ 5 %  โดยมีปริมาณฝนรวมประมาณ 220-270 มิลลิเมตรเท่านั้น

นายสุคนธ์ เต็มยศยิ่ง ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาลำตะคอง รักษาราชการแทน ผู้อำนวยการโครงการชลประทานนครราชสีมา ได้รายงานว่า สถานการณ์น้ำของอ่างเก็บน้ำลำตะคอง ซึ่งเป็น 1 ใน 4 อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ของ จ.นครราชสีมา ที่ส่งจ่ายน้ำไปหล่อเลี้ยงพื้นที่เศรษฐกิจของชาว จ.นครราชสีมา 5 อำเภอ ได้แก่ สีคิ้ว, สูงเนิน, ขามทะเลสอ, เมืองนครราชสีมา และ เฉลิมพระเกียรติ วันนี้สถานการณ์น่าเป็นห่วง เพราะเข้าสู่ช่วงปลายฝนต้นหนาวแล้ว แต่ปริมาตรน้ำเก็บกักในอ่างฯ มีแค่ 107.33 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือ 34.13 % เท่านั้น และเป็นน้ำใช้การได้เพียง 84.61 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือ 29 %  ต่างจากช่วงเวลาเดียวกันในปีที่แล้ว ที่มีน้ำเก็บกักอยู่ถึง 192.34 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือ 61.16 % มากเกือบ 2 เท่าของปีนี้

เนื่องจากตั้งแต่ต้นปี 2567 มีปริมาณฝนตกสะสม แค่ 654.8 มิลลิเมตร หรือค่าเฉลี่ย ประมาณ 66.82 % มีน้ำไหลเข้าอ่างฯ ตั้งแต่ต้นปี ประมาณ 105.60 ล้านลูกบาศก์เมตร ปัจจุบันอ่างเก็บน้ำลำตะคองจะต้องระบายน้ำออกวันละกว่า 374,000 ลูกบาศก์เมตร เพื่อส่งจ่ายไปให้ 5 อำเภอ ได้ใช้ผลิตประปาอุปโภค-บริโภค และรักษาระบบนิเวศลำน้ำ จนเหลือน้ำใช้การล่าสุด แค่ 29 % อยู่ในเกณฑ์น้ำน้อยวิกฤติ ต้องบริหารจัดการน้ำอย่างรัดกุม และใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ซึ่งได้สั่งการเจ้าหน้าที่ชลประทานให้จับตาดูปริมาตรน้ำคงเหลือ รายงานให้ทราบทุกวัน พร้อมกับลงพื้นที่ตรวจสอบว่ามีการลักลอบสูบดึงน้ำไปใช้ผิดวัตถุประสงค์หรือใช้ไม่เป็นไปตามแผนบริหารจัดการน้ำหรือไม่ เพื่อสงวนน้ำเก็บกักไว้ให้มากที่สุด เพื่อใช้ผลิตประปาอุปโภค-บริโภคให้เพียงพอเป็นอันดับแรก

ผู้สื่อข่าวรายงานอีกว่า ที่ด้านท้ายอ่างฯ บริเวณบ้านท่างอย ต.หนองสาหร่าย อ.ปากช่อง พบว่า ระดับน้ำในอ่างฯ ลดลงอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้มีสันดอนดินโผล่เป็นบริเวณกว้าง จนสามารถมองเห็นถนนมิตรภาพสายเก่าโผล่เป็นทางหลายกิโลเมตร ทอดยาวลงไปในอ่างเก็บน้ำ ซึ่งมีชาวบ้านในพื้นที่นำอุปกรณ์จับสัตว์น้ำขนาดเล็กออกมาทำประมง  อาทิ เบ็ด แห ยอ มาดักจับปลาในอ่างเก็บน้ำ เพื่อนำไปประกอบอาหารรับประทานในครัวเรือนและขาย พอได้มีรายได้เล็ก ๆ น้อย ๆ เลี้ยงครอบครัว

ทั้งนี้ จ.นครราชสีมา มีอ่างเก็บน้ำอยู่ทั้งหมด 27 แห่ง แต่มีอ่างเก็บน้ำที่มีปริมาตรน้ำใช้การ อยู่ในเกณฑ์น้ำน้อยวิกฤติ เหลือน้ำไม่ถึง 30 %  มีอยู่ 3 แห่ง โดยเป็นขนาดใหญ่ 1 แห่ง คือ อ่างเก็บน้ำลำตะคอง อ.สีคิ้ว และอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง 2 แห่ง คือ อ่างเก็บน้ำห้วยซับประดู่ อ.สีคิ้ว และอ่างเก็บน้ำห้วยน้ำเค็ม อ.บัวใหญ่ จ.นครราชสีมา

ข่าวที่เกี่ยวข้อง