เจาะประเด็นข่าว 7HD - ท่าเรืออัจฉริยะ พระราม 7 เกือบจะกลายเป็นอนุสาวรีย์ หลังจากบริษัทผู้รับจ้างทิ้งงาน เรื่องนี้คอลัมน์หมายเลข 7 ติดตามมาอย่างต่อเนื่อง แม้ล่าสุด จะได้บริษัทผู้รับจ้างรายใหม่แล้ว แต่กระบวนการฟ้องร้องผู้รับจ้างรายเดิม กลับยังล่าช้า ไปติดตามในคอลัมน์หมายเลข 7 วันนี้
ท่าเรืออัจฉริยะ พระราม 7 วงเงินสัญญา 40,860,000 บาท จากทุนวิจัยของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย หรือ กฟผ. ถูกห้างหุ้นส่วนจำกัด พัฒนาบรรณกิจ ผู้รับจ้างรายเดิมทิ้งงานมานานเกือบ 2 ปี และคอลัมน์หมายเลข 7 ติดตามประเด็นนี้มาอย่างต่อเนื่อง
ในที่สุด ก็ได้ บริษัท ไทยอินเตอร์เนชันแนล ด๊อคยาร์ด จำกัด เป็นผู้รับจ้างรายใหม่ ซึ่งกรมเจ้าท่า กระทรวงคมนาคม เผยแพร่ประกาศผู้ชนะการประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ เมื่อ 13 กันยายน 2567
โดยเสนอราคาต่ำสุด 26,740,000 บาท จากราคากลางที่ 26,840,000 บาท ซึ่งเท่ากับว่าต่ำกว่าเงินงบประมาณ 100,000 บาท หรือ คิดเป็นอัตราร้อยละ 0.37
คอลัมน์หมายเลข 7 ตรวจสอบข้อมูล พบว่า บริษัท ไทยอินเตอร์เนชันแนล ด๊อคยาร์ด จำกัด ดำเนินกิจการต่อเรือขนาดใหญ่และสิ่งก่อสร้างลอยน้ำ จดทะเบียนจัดตั้งเมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2534 ปัจจุบันทุนจดทะเบียน 100 ล้านบาท
มีรายได้ล่าสุด ปี 2566 กว่า 189 ล้านบาท ส่วนกำไร 35 ล้านบาท
โดยผู้รับจ้างรายใหม่ เพิ่งลงนามสัญญาเมื่อต้นเดือนตุลาคม 2567 และเข้าทำงานเมื่อวันที่ 16 ตุลาคม ที่ผ่านมา
คอลัมน์หมายเลข 7 ลงพื้นที่ไปตรวจสอบวันแรกของการทำงาน พบว่า คนงานได้เคลื่อนย้ายสิ่งของและทำความสะอาดพื้นที่ใหม่ทั้งหมด เพื่อเตรียมก่อสร้าง ขณะที่ป้ายโครงการยังไม่ถูกติดตั้ง
คนงานยอมรับว่า พื้นที่บางส่วนต้องรื้อทำใหม่ เพราะวัสดุเสื่อมสภาพ และถูกขโมย เช่น เคาน์เตอร์ กระจก ผนัง สายไฟ
สำหรับโครงการก่อสร้างท่าเรืออัจฉริยะ พระราม 7 พบผู้รับจ้างรายเดิมเบิกจ่ายวงเงินค่าจ้างไปแล้วประมาณ 13 ล้านบาท ซึ่งปัจจุบันกรมเจ้าท่าอยู่ระหว่างดำเนินการฟ้องร้องเรียกค่าเสียหาย
แม้กรมเจ้าท่าจะได้ผู้รับจ้างรายใหม่ และคาดว่าไม่เกิน 4 เดือน หลังจากนี้ คนไทยจะได้ใช้บริการท่าเรืออัจฉริยะ พระราม 7
แต่น่าสังเกตว่ากระบวนการฟ้องร้องผู้รับจ้างรายเดิมกลับล่าช้า ทั้งที่เวลาผ่านมาเนิ่นนาน และท่าเรือแห่งนี้ไม่ใช่โครงการเดียวที่ผู้รับจ้างรายนี้ทิ้งงาน