ถึงมือหมอแล้ว! “เต่าปูลู” กระดองแตก-หางเป็นแผล

ถึงมือหมอแล้ว! “เต่าปูลู” กระดองแตก-หางเป็นแผล

View icon 103
วันที่ 27 ต.ค. 2567 | 10.20 น.
ข่าวออนไลน์7HD
แชร์
นักท่องเที่ยวพบ “เต่าปูลู” บาดเจ็บกระดองแตก-หางเป็นแผล ที่น้ำตกแม่เกิ๋งหลวง จ.แพร่ และรีบแจ้งเจ้าหน้าที่เข้าช่วยเหลือได้ทัน ตอนนี้ส่งตัวไปรักษาแล้ว แถมได้ชื่อมาด้วยว่า “คำแก้ว”

วันนี้ (27 ต.ค. 67) นายประวิทย์ ใจคำ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติเวียงโกศัย เผยว่า เมื่อเวลาประมาณ 15.45 น. วันที่ 26 ตุลาคม 2567 ได้รับแจ้งจากคณะนักท่องเที่ยว ซึ่งเป็นคณะของเจ้าคณะตำบลแม่พุง เขต 1 ว่า พบ “เต่าปูลู” นอนนิ่งอยู่บริเวณหาดทรายของน้ำตกแม่เกิ๋งหลวง ชั้นที่ 3 โดยสังเกตพบรอยแผลแตกบริเวณส่วนท้ายของกระดองและโคนหาง

ทางเจ้าหน้าที่อุทยานฯ จึงทำการตรวจสอบเบื้องต้น พบว่า “เต่าปูลู” มีรอยแตกเป็นทางยาวที่กระดองและมีบาดแผลบริเวณหาง คาดว่าอาจถูกหินทับหรือหินร่วงลงมาทับทำให้ได้รับบาดเจ็บ เนื่องจากบริเวณดังกล่าวอยู่กลางป่าไม่มีเส้นทางรถผ่านจึงเป็นไปไม่ได้ที่จะถูกรถเหยียบ นอกจากนี้ยังพบว่าเต่ามีสภาพผอมคาดว่าอาจอดอาหารมาหลายวัน ทางเจ้าหน้าที่อุทยานฯ ได้นำเต่าส่งรักษาที่คลินิกสัตวแพทย์ในตัวเมืองแพร่ โดยใช้เวลาเดินทางกว่า 80 กิโลเมตร และต้องพาไปหาสัตวแพทย์ถึง 4 แห่ง จนพบสัตวแพทย์ที่มีประสบการณ์รักษาเต่าที่มีอาการกระดองแตกที่คลินิกบ้าน ป.ปลา รักษาสัตว์

ทางสัตวแพทย์ระบุว่า บริเวณที่กระดองแตกไม่มีอวัยวะสำคัญ เต่าจึงไม่ถึงขั้นโคม่าแต่มีอาการเจ็บมาก เวลาถูกสัมผัสบริเวณแผลก็จะดิ้นหนี ทีมสัตวแพทย์ได้ทำการรักษาโดยทำความสะอาดแผล ซ่อมแซม และเชื่อมกระดอง พร้อมปิดกันน้ำชั่วคราวด้วยดินน้ำมันที่ปลอดภัย รวมทั้งให้ยาฆ่าเชื้อ ยาแก้ปวด และยาอื่น ๆ สำหรับการรักษาต่อเนื่องจนกว่าจะหายเป็นปกติและสามารถปล่อยคืนสู่ธรรมชาติได้

นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่ได้ตั้งชื่อเต่าปูลูตัวนี้ว่า "คำแก้ว" และจะติดตามอาการจนกว่าจะหายดีและสามารถปล่อยคืนสู่ลำห้วยแม่เกิ๋งได้

ทั้งนี้ เต่าปูลู หรือ เต่าหัวใหญ่ เป็นเต่าน้ำจืด มีหัวขนาดใหญ่เมื่อเทียบกับลำตัว และไม่สามารถหดหัวเข้าไปในกระดองได้ มีกระดองแบนและหางยาว อาศัยอยู่ตามลำธารในป่าดิบเขาที่มีน้ำไหลเย็น สะอาด และมีออกซิเจนสูง พบได้ในพื้นที่ภาคเหนือและภาคตะวันตกของประเทศไทย ปัจจุบันเต่าปูลูจัดเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562

ข่าวที่เกี่ยวข้อง