สนามข่าว 7 สี - มาที่ประเด็นดรามาการให้สัญชาติไทย กับสถานะบุคคล 4.8 แสนคน หลายคนมองว่าอาจกระทบความมั่นคง และใครคือผู้ได้ปะโยชน์ เรื่องนี้รัฐบาลวอนอย่าดรามากันเลย ยืนยันทุกอย่างมีกระบวนการทางกฎหมาย ตามหลักสิทธิมนุษยชนสากล
ให้สัญชาติไทย กระทบความมั่นคง?
เรื่องนี้เป็นไปตามมติ ครม. อนุมัติมอบสัญชาติไทยให้แก่ผู้อพยพ-ชนกลุ่มน้อยที่เกิดในไทย จำนวน 4.8 แสนคน แต่ไม่วายเกิดดรามาชาวโซเชียลวิจารณ์กันฉ่ำ หลากแง่มุมมอง ที่หลัก ๆ ชาวเน็ตไม่เห็นด้วย หวั่นว่าจะกระทบความมั่นคง ลามถึงปัญหาคนต่างด้าวล้นเมือง และแย่งอาชีพคนไทย
หนึ่งเสียงไม่เห็นด้วย เต้ อาชีวะ ออกมาโพสต์เฟซบุ๊กเคลื่อนไหวว่า "ถ้าไม่สนใจเสียงประชาชน ผมจะเอารายชื่อคัดค้านไปให้ถึงที่ เจอกันวันที่ 4 พฤศจิกายน 2567 คัดค้านทั้งมติ ครม. เรื่องแรงงานต่างด้าว และคัดค้านการให้สัญชาติ บุคคลต่างด้าว ที่ไม่ได้ทำประโยชน์ และชื่อเสียงให้กับประเทศ ถ้าไม่ค้านไม่แสดงพลัง อนาคตลูก หลาน เหลน จะร้องเพลงชาติไทยได้ชัดเจนกว่า ชนชาติอื่นหรือไม่"
เช่นเดียวกันอดีตบิ๊กข่าวกรอง นายนันทิวัฒน์ สามารถ อดีตรองผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองแห่งชาติ ก็ออกมาเคลื่อนไหวเช่นกัน โพสต์เฟซบุ๊กว่าร่ายข้อความให้แง่คิดยาวเยียด ประเด็นหลัก ๆ เอ่ยถึงโอนสัญชาติคนต่างด้าว เป็นคนไทยทีเดียว 4 แสนกว่าคน เป็นเรื่องละเอียดอ่อนมาก ต้องพิจารณาถึงความมั่นคง ความจงรักภักดี ประโยชน์แก่ประเทศ การเสียภาษี เป็นประการสำคัญ คนที่จะโอนสัญชาติต้องไม่ใช่กลับมาเป็นภาระของคนในชาติ และไม่สร้างความขัดแย้งกับคนในชาติ บางประเทศ คนที่จะโอนสัญชาติได้ต้องสามารถอ่านออกเขียนได้ภาษาของเจ้าของประเทศได้ ต้องมีที่มาที่ไปไม่ใช่เหมาโหล ระบบคัดกรองของทางราชการมีมั้ย หรือ กลัวจะยุ่งยาก ยาวนานอย่างที่แถลงต่อไปในอนาคต คนกลุ่มนี้สร้างปัญหา ใครจะต้องรับผิดชอบ
อย่าดรามา ให้สัญชาติ ต่างด้าว
นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ออกมาสยบปมดรามายืนยันว่า รัฐบาลทำไปเพื่อให้กระบวนการต่าง ๆ ทางกฎหมายเร็วขึ้น ง่ายขึ้น ยืนยันว่ามีกระบวนการตรวจสอบ และสามารถถอนรายชื่อได้อยู่แล้ว
จะให้สัญชาติกับใครนั้น นางสาว ไตรศุลี ไตรสรณกุล โฆษกกระทรวงมหาดไทย ย้ำว่า ครม. และกระทรวงมหาดไทย ดำเนินการตามหลักสิทธิมนุษยชนสากล และเป็นไปตามนโยบายของรัฐบาล ต้องการสร้างความเท่าเทียมในชีวิต ซึ่งกลุ่มคนดังกล่าวอพยพเข้ามาในประเทศไทย ก่อนปี พ.ศ. 2542 จำนวน 3.4 แสนคน และเกิดในประเทศไทย จำนวน 1.4 แสนคน แต่ติดเงื่อนไขกฎหมายในอดีต ไม่สามารถใช้ชีวิตอย่างคนไทยได้ เพราะไม่มีสถานะทางทะเบียน ขอย้ำ ไม่ใช่เป็นการให้สัญชาติแก่คนต่างด้าว