ไทย-อินเดีย​ เดินหน้าความร่วมมือ​ ภายใต้กรอบ BIMSTEC-ทางทหาร​- แก้ปัญหาน้ำท่วมน้ำแล้ง

ไทย-อินเดีย​ เดินหน้าความร่วมมือ​ ภายใต้กรอบ BIMSTEC-ทางทหาร​- แก้ปัญหาน้ำท่วมน้ำแล้ง

View icon 57
วันที่ 3 พ.ย. 2567 | 09.03 น.
ข่าวออนไลน์7HD
แชร์
ไทย-อินเดีย​ เดินหน้าความร่วมมือ​ ภายใต้กรอบ BIMSTEC-ทางทหาร​- แก้ปัญหาน้ำท่วมน้ำแล้ง ฟื้นความร่วมมือลุ่มแม่น้ำโขง-คงคา​ หวังขับเคลื่อนบทบาทประเทศกำลังพัฒนา

3 พฤศจิกายน 2567 นายมาริษ เสงี่ยมพงษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ให้สัมภาษณ์ถึงการหารือกับนายสุพรหมณยัม ชัยศังกระ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศอินเดีย เมื่อวันที่ 2 พ.ย. 2567ว่า ได้มีการหารือกันใน 3 ประเด็นหลัก คือความร่วมมือทวิภาคีระหว่างไทย-อินเดีย ซึ่งได้มีการหารือกันเกี่ยวกับความพยายามในการผลักดันการพัฒนาอุตสาหกรรมการทหารร่วมกัน โดยทราบว่าขณะนี้ทางอินเดียมีความร่วมมือกับแอร์บัสในการผลิตเครื่องบินขนาดเล็ก นายสุพรหมณยัมยินดีที่ไทยให้ความสนใจที่จะร่วมเป็นหุ้นส่วนในการพัฒนาอุตสาหกรรมทางทหาร โดยในครั้งนี้ได้ตกลงกันว่าทั้งสองฝ่ายจะมีการระบุตัวบุคคลที่จะเป็นผู้ทำการติดต่อของแต่ละฝ่าย เพื่อให้เจ้าหน้าที่ด้านเทคนิคที่เกี่ยวข้องได้พบปะกัน ทั้งในส่วนของเจ้าหน้าที่ภาครัฐและภาคเอกชน  และจะมีการนำผู้แทนของบริษัทเหล่านี้เดินทางมาอินเดีย เพื่อพูดคุยปรึกษาถึงความเป็นไปได้ ว่าจะมีความร่วมมือในการพัฒนาอุตสาหกรรมทหารในสาขาใด ขณะนี้อินเดียมีการพัฒนาอากาศยานขนาดเล็ก รถหุ้มเกราะ และรถถัง ซึ่งความร่วมมือในเรื่องดังกล่าว จะทำให้ความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศใกล้ชิดกันมากขึ้น และนำไปสู่การพัฒนาอุตสาหกรรมด้านความมั่นคงและทางทหารซึ่งมีความสำคัญสำหรับโลกอนาคต

นายมาริษกล่าวว่า อีกประเด็นที่ได้มีการพูดคุยกัน คือ เรื่องที่ไทยและอินเดีย จะเป็นผู้นำในการขับเคลื่อนความร่วมมือภายใต้กรอบ BIMSTEC ซึ่งปัจจุบันประเทศไทย ภายใต้การนำของนางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ให้ความสำคัญกับการแสดงบทบาทนำของไทยร่วมกับประเทศต่างๆ รวมถึงกลุ่มที่ไทยเป็นสมาชิก เพื่อขับเคลื่อนบทบาทของประเทศกำลังพัฒนา อินเดียและไทยถือว่ามีศักยภาพในฐานะประเทศที่มีศักยภาพในการพัฒนาเศรษฐกิจใหม่ เพื่อแสดงบทบาทในการขับเคลื่อนประเทศกำลังพัฒนาให้ไปได้ และยังสามารถร่วมมือกันเพื่อขับเคลื่อนประเทศใน BIMSTEC ได้เป็นอย่างดี

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ระบุ เพิ่มเติมว่า ยังได้มีการหารือในเรื่องที่เคยพูดคุยกัน ระหว่างการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศ BIMSTEC อย่างไม่เป็นทางการ ในเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา เกี่ยวกับเรื่องความมั่นคงใน 3 ด้าน
1.ความมั่นคงด้านอาหาร ซึ่งไทยและอินเดียสามารถขับเคลื่อนร่วมกัน เพื่อให้ BIMSTEC ได้รับการรับรองความมั่นคงด้านอาหารใน 2 ประเด็น ประการแรกคือเรื่องธัญพืช เนื่องจากทั้งสองประเทศต่างผลิตธัญพืชและเพาะปลูกข้าว ประการที่สอง คือ การพัฒนาเรื่องประมงร่วมกันในสมาชิก BIMSTEC เพราะไทยและอินเดีย มีองค์ความรู้เรื่องการทำประมงทั้งการทำประมงชายฝั่งและการทำประมงน้ำลึก  ขณะที่ประเทศในเอเชียใต้ มีทรัพยากรทางทะเลที่มีศักยภาพเป็นจำนวนมาก แต่แนวทางการทำประมงอาจยังไม่สอดคล้องกับจำนวนทรัพยากรที่มีอยู่ องค์ความรู้ที่ทั้งสองประเทศมีจะสามารถช่วยกันนำไปพัฒนา เพื่อนำไปสู่การเติบโตขอ BIMSTEC ร่วมกัน

2.เรื่องพลังงาน ไทยและอินเดียสามารถสนับสนุนเกื้อกูลกันในการทำวิจัยเกี่ยวกับพลังงานพลังงานทางเลือก เชื่อมั่นว่าด้วยศักยภาพของทั้งสองประเทศเพียงพอที่จะสร้างความมั่นคงด้านพลังงานให้กับประเทศสมาชิก BIMSTEC ได้เป็นอย่างดี​ และความมั่นคง

3.คือความมั่นคงของมนุษยชาติ ซึ่งนายสุพรหมณยัม สนับสนุนความร่วมมือกับไทยในการพัฒนาองค์ความรู้เกี่ยวกับโรคเขตร้อน เพราะไทยเป็นประเทศที่มีศักยภาพและเรามีศูนย์เวชศาสตร์เขตร้อน ความร่วมมือระหว่างสองประเทศในเรื่องดังกล่าวจึงไม่ได้เริ่มขึ้นจากศูนย์ แต่จะเป็นการขยายความร่วมมือและต่อยอดในสิ่งที่มีเกี่ยวกับเรื่องโรคเขตร้อนได้เป็นอย่างดี รัฐมนตรีต่างประเทศอินเดียเห็นพ้องว่าทั้งสองประเทศสามารถพัฒนาองค์ความรู้ในเรื่องโรคเขตร้อนและยังแนะนำว่าควรขยายความร่วมมือเรื่องเทคโนโลยีและความรู้เกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวไปสู่ความร่วมมือด้านธุรกิจ การวิจัย ยา และวัคซีน เพื่อสร้างความมั่นคงให้กับมนุษยชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศสมาชิกBIMSTEC ขณะที่อินเดียมีศักยภาพในการผลิตวัคซีนและยา ความรู้ที่ทั้งสองประเทศจะร่วมกันพัฒนาสามารถนำไปใช้ได้กับผู้ประกอบการในทั้งสองประเทศ และทำการตลาดปลายน้ำให้ประชาชน 2,000 ล้านคนในเอเชียใต้ได้อีกด้วย

นายมาริษ กล่าวว่า ยังได้มีการหารือเกี่ยวกับผลกระทบจากไต้ฝุ่นชางงี ที่ทำให้เกิดน้ำท่วมภาคเหนือทั้งของไทย ลาว และเมียนมา ขณะนี้นายกรัฐมนตรีแพทองธาร ต้องการพัฒนาความร่วมมืออนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงทั้ง 5 ประเทศ ประกอบด้วยไทย ลาว กัมพูชา เมียนมา และเวียดนาม โดยจะทำงานร่วมกับประเทศหุ้นส่วนอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง อาทิ สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ รวมถึงกรอบแม่โขง-ล้านช้าง และจะพยายามให้ประเทศหุ้นส่วนเหล่านี้มาทำงานร่วมกับเราในการแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับน้ำทั้งสองด้านคือน้ำแล้งและน้ำท่วม เพื่อไม่ให้เกิดอุทกภัยในหน้าฝน ซึ่งเป็นความตั้งใจของรัฐบาลที่จะแก้ไขปัญหาน้ำท่วมอย่างเป็นระบบ ตั้งแต่มีการเตือนภัย มีความร่วมมือเกี่ยวกับปริมาณน้ำ การวางโครงสร้างพื้นฐานให้เป็นระบบ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาขึ้น แม้ว่าอาจจะไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ 100 เปอร์เซ็นต์ แต่การนำเทคโนโลยีที่มีเข้ามาช่วยก็น่าจะช่วยลดผลกระทบได้อย่างมีประสิทธิภาพ

นายมาริษ กล่าวด้วยว่า ยังได้หยิบยกความร่วมมือลุ่มแม่น้ำโขง-คงคา ซึ่งได้ว่างจากการพบปะกันมานานพอสมควรมาหารือ และแสดงความตั้งใจว่าจะรื้อฟื้นความร่วมมือดังกล่าวขึ้น ซึ่งได้รับการตอบรับจากนายสุพรหมณยัม เป็นอย่างดี อินเดียเป็นประเทศใหญ่ มีประสบการณ์ในการบริหารจัดการน้ำและประสบปัญหาน้ำแล้งและน้ำท่วมเช่นกัน ดังนั้นองค์ความรู้ที่เราพัฒนาร่วมกันจะเป็นประโยชน์กับทั้งสองประเทศและยังเป็นองค์ความรู้ที่ทั้งสองประเทศจะช่วยนำไปแก้ไขปัญหาให้กับประเทศในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงได้ ทั้งยังเป็นประโยชน์กับประเทศที่เป็นหุ้นส่วนด้านการพัฒนาร่วมกันอีกด้วย

นายมาริษ​ กล่าวว่า​ประเทศไทยยังมีความร่วมมือที่ดีกับสถาบันแม่น้ำโขง ซึ่งตั้งอยู่ที่มหาวิทยาลัยขอนแก่น ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการศึกษาและมีองค์ความรู้เกี่ยวกับการบริหารจัดการน้ำ นอกจากนี้ยังมีคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง ซึ่งมีองค์ความรู้และมีศักยภาพอย่างมากในการพัฒนาองค์ความรู้เกี่ยวกับการบริหารจัดการน้ำด้วยเช่นกัน​ ซึ่งการหารือระหว่างกันเป็นการพูดคุยอย่างตรงไปตรงมาและมีความเห็นสอดคล้องกันอย่างชัดเจนในทั้ง 3 ประเด็นดังกล่าว โดยนายสุพรหมณยัม ซึ่งจะเดินทางไปประเทศออสเตรเลียยังรับปากที่จะไปหารือกับออสเตรเลียในเรื่องดังกล่าวอีกด้วย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง