“หมอวรงค์” เปิดเหตุที่สมควรต้องรีบยกเลิก MOU44
วันนี้ (4 พ.ย.67) นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ประธานที่ปรึกษาพรรคไทยภักดี โพสต์เฟซบุ๊ก ระบุว่า ยิ่งฟังคำชี้แจงต้องยิ่งยกเลิก MOU44 หัวใจหลักของ MOU44 ที่นำไปสู่การเกิดพื้นที่ทับซ้อน คือการลากเส้นไหล่ทวีปของกัมพูชา ที่ลากจากหลักหมุดบนบกที่ 73 ผ่านจุดสูงสุดของเกาะกูด และออกไปทางอ่าวไทยในปีพ.ศ.2515 ซึ่งต่างจากไทย ที่ลากจากหมุดที่ 73 ผ่านกึ่งกลางระหว่างเกาะกูดกับเกาะกงในปี 2516
“ได้ฟังคำชี้แจงจากบุคคลท่านหนึ่ง ที่เป็นคณะทำงาน MOU44 บอกได้อย่างเต็มปากว่า ฟังท่านพูดเคลียร์ทุกเรื่อง แต่ที่ท่านบอกว่า การกำหนดเส้นไหล่ทวีป เป็นการอ้างสิทธิ์ของกัมพูชา ต่างฝ่ายต่างอ้างสิทธิ์ เฉพาะเส้นนี้ที่แปลกใจ ฝ่ายไทยไปยอมรับได้อย่างไร (เราไม่เคยยอมรับตั้งแต่ปี2515จนมาบันทึกใน MOU44)”
สิ่งที่ต้องถาม การอ้างสิทธิ์ในเส้นไหล่ทวีป ต้องมีเหตุผล แม้จะอ้างข้อมูลทางประวัติศาสตร์ ที่กฏหมายระหว่างประเทศยอมรับ เส้นไหล่ทวีปของกัมพูชา ที่ลากผ่านเกาะกูดก็ไม่สมเหตุผล เพราะประวัติศาสตร์ระบุไว้ชัดเจนว่า เกาะกูดเป็นของไทย เส้นที่เล็งจากจุดสูงสุดของเกาะกูด ก็เพื่อกำหนดหลักหมุดที่73 ซึ่งเป็นเขตแดนทางบกไม่ใช่ทางทะเล
ดังนั้น ปัญหาที่นำไปสู่พื้นที่ทับซ้อน ที่มีขนาดใหญ่เท่ากับจังหวัดสงขลา พัทลุง ตรัง ยะลา นราธิวาสและปัตตานีรวมกัน 26,000 ตร.กม. ก็เกิดจากการที่ ฝ่ายเราไปยอมรับว่า เขาอ้างสิทธิ์ ซึ่งเป็นการอ้างสิทธิ์ที่ตามใจชอบ ยังไม่นับรวมเงื่อนไขใน MOU44 ที่บ่งบอกว่าไทยเสียเปรียบ เรื่องดินแดนในอนาคต นี่คือจุดที่ต้องทบทวน MOU44 เพราะจะนำไปสู่ปัญหาทุกอย่าง รวมทั้งดินแดนทางทะเล ส่วนของทะเล ผืนทราย และทรัพยากรรอบเกาะกูดด้านประชิดกัมพูชา(เกาะกูดเราจะเหลือแต่เกาะแต่รอบเกาะด้านประชิดเขมรกลายเป็นพื้นที่ทับซ้อน)
ดังนั้น ยิ่งฟังจากพวกท่านชี้แจง เริ่มจับได้แล้วว่า พวกท่านไปยอมกัมพูชา เพียงเพื่อต้องการพลังงานขึ้นมาเร็วๆ แต่ปัญหาดินแดน ผลประโยชน์ชาติที่มากกว่านี้ โอกาสที่จะเสียเปรียบ และเสียดินแดนในอนาคต ดูพวกท่านจะไม่ค่อยสนใจ ยิ่งฟังคำชี้แจง จึงต้องรีบยกเลิก MOU44
สำหรับเรื่อง MOU44 ซึ่งก็คือ การตกลงความร่วมมือพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลระหว่างไทย-กัมพูชา ได้กลับมาเป็นประเด็นร้อนรุนแรง มีการโยงถึงความสัมพันธ์แนบแน่นระหว่าง ทักษิณ ชินวัตร กับฮุน เซน และมีการโยงถึงรัฐบาลแพทองธาร ชินวัตร กำลังจะเจรจากับกัมพูชาเรื่องผลประโยชน์การร่วมสำรวจน้ำมันหรือก๊าชใต้ทะเลในเขตทับซ้อนอ้างสิทธิ์ตาม MoU 2544 โดยอาจไม่ต้องหาข้อสรุปเรื่องเส้นเขตแดนทางทะเลไปพร้อมๆ กัน ส่งผลให้เกิดข้อวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักเนื่องจากเกรงว่าจะทำให้ไทยเสียผลประโยชน์ในระยะยาว