ลุ้นรักษาการได้ยิน! หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง-ผู้ใจบุญ แห่ช่วยเหลือ "คู่แฝดตาสีฟ้า" หูไม่ได้ยิน-ไม่สามารถพูดได้
6 พ.ย. 67 ความคืบหน้าการช่วยเหลือ "น้องแก้ม" ด.ญ.นารินทร์ อายุ 9 ขวบ เด็กแฝดคนพี่ มีดวงตาสีฟ้าสองข้าง และแฝดคนน้อง คือ "น้องกิ๊ฟ" ด.ญ.นารา อายุ 9 ขวบ โดยทั้งคู่มีจุดเด่น คือ ดวงตาแปลกจากเด็กทั่วไป มีตาสีฟ้าคล้ายหุ่นยนต์ สามารถมองเห็นได้ปกติ แต่พิการทางหูไม่ได้ยินเสียง ทำให้ไม่สามารถพูดได้ หลังมีข่าวเผยแพร่ออกไป ถึงปัญหาครอบครัวยากจน แม่ คือ นางคำ จันวิพอน อายุ 42 ปี ชาว สปป.ลาว เป็นแม่เลี้ยงเดี่ยว ที่มาอาศัยรับจ้างขายแตงโมที่ตลาดบ้านต้อง ต.ฝั่งแดง อ.ธาตุพนม จ.นครพนม กับพี่สาว ที่มีสามีคนไทย และเช่าบ้านพักอาศัย เลี้ยงครอบครัว ส่วนสาเหตุดวงตาสีฟ้า นั้น เกิดจากกลุ่มอาการวาร์เดนเบิร์ก ซินโดรม (Waardenburg syndrome) ซึ่งเป็นโรคทางพันธุกรรมพบยาก
โดยมีหน่วยงานเกี่ยวข้อง รวมถึงผู้ใจบุญ ต่างติดต่อเพื่อขอให้การช่วยเหลือทุกด้าน และจะมีการบริจาคเครื่องช่วยฟังเสียง ส่วนการตรวจรักษาในระยะยาว จะมีการส่งตัวไปตรวจรักษาอาการเบื้องต้นที่โรงพยาบาลนครพนม เพื่อหาแนวทางดูแลรักษาเกี่ยวกับปัญหาการได้ยิน จะได้ส่งผลดีต่อการพัฒนาชีวิต และการศึกษาในอนาคต หากผู้ใจบุญผู้ใหญ่ใจดี สามารถติดต่อช่วยเหลือโดยตรงที่แม่เด็ก ได้ที่เบอร์ 065 598 1182 และสามารถบริจาคช่วยเหลือผ่านบัญชีกองทุนช่วยเหลือ ชื่อบัญชี ธนาคารกสิกรไทย สาขา อ.ธาตุพนม บัญชีนี้เพื่อช่วยเหลือเด็กฝาแฝดดวงตาสีฟ้า บัญชีประเภท ออมทรัพย์ เลขที่บัญชี 1973592323
ล่าสุด ทางด้าน นายชยุตพงศ์ ปูชนียะพงศ์ เจ้าหน้าที่จากหน่วยงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จ.นครพนม ได้นำเจ้าหน้าที่เกี่ยวข้อง ลงพื้นที่ตรวจสอบ ให้การช่วยเหลือตามสิทธิ์ พร้อมยืนยัน ปัจจุบันเด็กทั้ง 2 คน ได้รับสวัสดิการคนพิการ คนละ 1,000 บาท ต่อเดือน และจะมีการตรวจสอบดูแลตามสิทธิ์สงเคราะห์ครอบครัวยากจน และประสานหน่วยงานเกี่ยวข้องดูแลทุกด้าน ไปจนถึงการหารือช่วยเหลือดูแลสงเคราะห์ ด้านที่พักอาศัย รอตรวจสอบให้การช่วยเหลือ
ส่วน ดร.สุบิน ประสพบัว ผู้อำนวยการโสตศึกษา จ.มุกดาหาร เปิดเผยว่า เด็กฝาแฝดทั้ง 2 คน ปัจจุบัน กำลังเรียนในชั้น ป.2 และมีสิทธิ์ได้รับการศึกษาฟรี ถึงชั้น ม.6 การดูแลที่ผ่านมาพบว่า เด็กมีการพัฒนาการทางสมองดี สามารถดูแลตัวเองได้ เข้ากับเพื่อนได้ดีตามปกติ มีนิสัยร่าเริงสนุกสนาน ทำกิจกรรมได้ทุกอย่าง แต่มีปัญหาการได้ยิน ไม่สามารถพูดได้ หากมีการดูแลตรวจรักษาทางการแพทย์ เชื่อว่าจะส่งผลดีต่อการพัฒนาการเด็ก ปัจจุบันมีการสื่อสารทางภาษามือ ยืนยันทางโรงเรียน พร้อมดูแลตามสิทธิ์ทุกด้าน